การพิจารณาคดีลับหลังจำเลย

การพิจารณาคดีลับหลังจำเลย

ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปี การพิจารณาคดีจะต้องทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาลับหลังจำเลยและดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดลับหลังจำเลยได้มิฉะนั้นเป็นการไม่ชอบศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยจึงไม่ชอบ และมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในขั้นตอนการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยตั้งแต่วันนัดฟังประเด็นกลับเป็นต้นไป แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15147/2551
 
การพิจารณาและสืบพยานในศาลไม่ว่าชั้นสืบพยานโจทก์หรือพยานจำเลยจะต้องทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร จะอนุญาตให้จำเลยไม่มาฟังการพิจารณาและสืบพยานนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง, 172 ทวิ คดีนี้ ในวันนัดฟังประเด็นกลับ จำเลยไม่มาศาล และศาลชั้นต้นอนุญาตให้พิจารณาลับหลังจำเลย แต่ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 (เดิม) ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาลับหลังจำเลยและดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดลับหลังจำเลยได้ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและให้ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงและโจทก์แถลงไม่สืบพยานปาก อ. นั้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง, 172 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยจึงไม่ชอบ และมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 และริบของกลาง

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่) ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี จำเลยให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก

          โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาลับหลังจำเลยเฉพาะวันนัดฟังประเด็นกลับ และให้ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่า นายอภิชาต เป็นผู้ตรวจวิเคราะห์วัตถุของกลาง ตามรายงานผลการตรวจวิเคราะห์เอกสารหมาย ป.จ.3 และโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานปากดังกล่าว โดยจำเลยไม่ได้มาศาลด้วยนั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2545 ซึ่งเป็นวันนัดฟังประเด็นกลับว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้พิจารณาลับหลังจำเลยเฉพาะวันนัดฟังประเด็นกลับ และทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่า นายอภิชาตเป็นผู้ตรวจวิเคราะห์วัตถุของกลาง ตามรายงานผลการตรวจวิเคราะห์เอกสารหมาย ป.จ.3 ซึ่งผลการตรวจปรากฏว่าพบเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ในวัตถุของกลาง และโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน เห็นว่า การพิจารณาและสืบพยานในศาลไม่ว่าชั้นสืบพยานโจทก์หรือพยานจำเลยจะต้องทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร จะอนุญาตให้จำเลยไม่มาฟังการพิจารณาและสืบพยานนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคหนึ่ง, 172 ทวิ ซึ่งมาตรา 172 ทวิ ได้บัญญัติว่า “...เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร เพื่อให้การดำเนินการพิจารณาเป็นไปโดยไม่ชักช้า ศาลมีอำนาจพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน สิบปี จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือในคดีมีโทษปรับสถานเดียว เมื่อจำเลยมีทนายและจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและการสืบพยาน...” คดีนี้ ในวันนัดฟังประเด็นกลับ จำเลยไม่มาศาล และศาลชั้นต้นอนุญาตให้พิจารณาลับหลังจำเลย แต่ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 (เดิม) ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาลับหลังจำเลยและดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดลับหลังจำเลยได้ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และให้ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงและโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานปากนายอภิชาตนั้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคหนึ่ง, 172 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยจึงไม่ชอบ และมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยฎีกามา

          พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในขั้นตอนการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยตั้งแต่วันนัดฟังประเด็นกลับเป็นต้นไป แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

( สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ - สิริรัตน์ จันทรา - ณรงค์พล ทองจีน )
ศาลจังหวัดนราธิวาส - นายทวีวัฒน์ โสวรัตนพงศ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 - นายจิรพงษ์ ทัศน์เอี่ยม
ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง, 172 ทวิ

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ