ผลของการปลดจากล้มล้มละลาย | หนี้สินก่อนล้มละลาย

ผลของการปลดจากล้มล้มละลายกับหนี้สินที่ได้เกิดขึ้นก่อนในคดีล้มละลาย
โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ปรากฏว่าเจ้าหนี้อื่นได้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้ แต่การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่นไปย่อมมีผลให้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้รายดังกล่าวไปใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของจำเลย โจทก์จะนำหนี้ที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายซ้ำอีกคดีหนึ่งหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5369/2549

จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจาก บ. โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาไว้แก่โจทก์อีกว่า หากโจทก์ต้องชำระหนี้แก่ บ. แทนจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะชำระหนี้แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวันที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาไว้แก่โจทก์นั้นมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์อาจถูก บ. เรียกร้องให้ชำระหนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้ที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามสัญญารับจะชำระหนี้ในเวลาภายหน้าได้ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดโจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91, 94 และ 101 ปรากฏว่า บ. ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดแล้ว โจทก์จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 101 วรรคหนึ่งตอนท้าย แต่การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่ บ. ภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดและปลดจากล้มละลายแล้วมีผลให้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของ บ. ไปใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตามป.พ.พ. มาตรา 229 โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมาฟ้องให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ล้มละลายซ้ำอีก

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ.2534 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือภารธุระอุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ.2534 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 มีหนังสือขอให้โจทก์ค้ำประกันสินเชื่อโครงการของจำเลยที่ 1 ที่ได้สินเชื่อจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยตกลงผูกพันตนตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการค้ำประกันสินเชื่อของโจทก์และจัดให้มีบุคคลมาค้ำประกันการชำระหนี้ที่โจทก์ต้องชำระให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแทนจำเลยที่ 1 ไป ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2539 โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไม่เกิน 1,807,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยวันที่คดีถึงที่สุดหลังจากนั้นโจทก์ได้ออกหนังสือค้ำประกันฉบับใหม่แทนฉบับเดิมอีก 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 และวันที่ 1 ตุลาคม 2543 หนังสือค้ำประกันฉบับใหม่มีเงื่อนไขว่าโจทก์จะจ่ายค่าประกันชดเชยต่อเมื่อบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ฟ้องจำเลยที่1 จนคดีถึงที่สุด มีการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ที่เป็นหลักประกันและทรัพย์สินที่เป็นของผู้ค้ำประกันเสร็จสิ้นแล้ว การที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไม่ว่าด้วยเหตุใดจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องชำระแทนจำเลยที่ 1 ไป จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทันทีตามจำนวนที่จ่ายไปพร้อมดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 เบิกใช้สินเชื่อแล้วไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่ต่อศาลแพ่ง และศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2545 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ง. 295/2545 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 25,236,446.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราตามประกาศธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินให้กู้แบบไม่มีระยะเวลา (เอ็มโออาร์) บวกร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงิน 15,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 50237, 50238 และ 11160 ตำบลบางโคล่ (บางขวาง) อำเภอยานนาวา (บางรัก) กรุงเทพมหานครและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบ กับให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยกำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท เมื่อคดีถึงที่สุดบรรษัทเงินอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายค่าประกันชดเชยแทนจำเลยที่ 1 และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้รับเงินจากโจทก์แล้วเป็นต้นเงินตามวงเงินที่ค้ำประกัน 1,807,000 บาท ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ยื่นคำขอรับเงิน 1,275,578.01 บาท รวมเป็นเงิน 3,082,578.01 บาท โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิในการใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสี่ให้ชำระหนี้ และมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ จำนวน 3,082,578.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2546 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จ่ายเงินจนถึงวันฟ้อง 172,579.02 บาท รวมเป็นเงิน 3,255,057.03 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสี่ให้ชำระหนี้ 3 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับหนังสือไว้แล้วแต่เพิกเฉย ส่วนจำเลยที่ 1 ส่งหนังสือให้ไม่ได้ โดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์แจ้งว่าไม่มารับภายในกำหนด จำเลยทั้งสี่ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตาย ขอให้มีคำสั่งให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483

ระหว่างพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำฟ้อง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเรียกทายาทจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นผู้แทนจำเลยที่ 2 คำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง และคำสั่งรับคำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 แล้วมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์ตามฟ้อง แต่โจทก์ไม่มีอำนาจนำหนี้ตามสัญญาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นบุคคลล้มละลายเพราะจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 มูลหนี้ที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 เกิดขึ้นตั้งแต่วันดังกล่าว ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2545 ในคดีหมายเลขแดงที่ 880/2545 และวันที่ 25 กันยายน 2545 ในคดีหมายเลขแดงที่ 1613/2545 ตามลำดับ โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีดังกล่าวภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91, 94 และ 101 แต่โจทก์ละเลยไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จนกระทั่งศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นบุคคลล้มละลาย นอกจากนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ไปให้การเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการทั้งหมดต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดถูกยึดและอายัดนำออกขายทอดตลาดจนหมดสิ้นแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องขอปลดจากล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ปลดจากล้มละลายโดยมีเงื่อนไขเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2546 มีผลให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ แม้โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือคำสั่งปลดจากล้มละลายก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธินำมูลหนี้มาฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2539 โจทก์ทำหนังสือค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนลงวันที่ 13 กันยายน 2539 ไว้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยวงเงิน 1,807,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยถึงวันที่คดีถึงที่สุด หลังจากนั้น โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันฉบับใหม่แทนหนังสือค้ำประกันฉบับเดิมอีก 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 และวันที่ 1 ตุลาคม 2543 ตามเอกสารหมาย จ.8 จ.9 และ จ.10 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญารับจะชำระหนี้เกิดจากการที่โจทก์ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไว้แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 วันที่ 27 สิงหาคม 2545 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ง.295/2545 ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นตามสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนดังกล่าวและจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระเงิน 25,236,446.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์ในคดีดังกล่าว คดีถึงที่สุด ตามเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขอรับเงินตามหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 จากโจทก์และได้รับเงินจากโจทก์เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2546 เป็นต้นเงิน 1,807,000 บาท ดอกเบี้ย 1,275,578.01 บาท รวมเป็นเงิน 3,082,578.01 บาท ตามเอกสารหมาย จ.18 ถึง จ.21 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2545 และวันที่ 25 กันยายน 2545 ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.6 โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า โจทก์นำหนี้ที่ชำระให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ล้มละลายคดีนี้ได้หรือไม่ จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ไว้แก่โจทก์สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 15,000,000 บาท เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปแล้ว โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และโจทก์ ทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่บรรษัทดังกล่าว ในส่วนของโจทก์ได้ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันไว้เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยในกรณีที่โจทก์ถูกเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันข้างต้น ที่มาแห่งมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเกิดจากการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ซึงมีการรับเงินไปแล้ว หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์ต้องถูกเรียกร้องจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะไล่เบี้ยจำเลยที่ 3 และที่ 4 เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาค้ำประกันมิได้เกิดขึ้นเมื่อโจทก์จ่ายเงินให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในวันที่ 17 ตุลาคม 2546 เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนหนี้ที่โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในเวลาภายหน้าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91, 94 และ 101 การที่โจทก์ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้มีผลให้โจทก์เสียสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 และไม่อาจนำหนี้ที่ถูกเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันมาฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้ล้มละลายนั้น เห็นว่า ได้ความจากสำเนาคำพิพากษาศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ ง.295/2545 เอกสารหมาย จ.15 ว่า หลังจากทำสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแล้วจำเลยที่ 1 เบิกเงินตามสัญญาไปเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 เป็นเงิน 15,000,000 บาท แล้วออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อถึงกำหนดใช้เงินในวันที่ 30 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ดังนี้ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2541 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญารับจะชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 มูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์อาจถูกเรียกร้องจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ชำระหนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 จ.9 และ จ.10 ข้อ 3 ที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตามเอกสารหมาย จ.17 เป็นว่า โจทก์จะจ่ายค่าประกันชดเชยต่อเมื่อสถาบันการเงินได้ฟ้องร้องผู้กู้จนคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามสัญญารับจะชำระหนี้ในเวลาภายหน้าได้ เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91, 94 และ 101 แต่ปรากฏว่าบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วตามเอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 โจทก์จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 101 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย แต่การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปย่อมมีผลให้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้รายดังกล่าวไปใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 โจทก์จะนำหนี้ที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมาฟ้องให้จำเลยดังกล่าวล้มละลายซ้ำอีกคดีหนึ่งหาได้ไม่ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมานั้น ศาลฎีกาเห็นไม่พ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นพับ.
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 27 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม

มาตรา 91 เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน
คำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สิน และข้อความระบุถึงหลักฐานประกอบหนี้และทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของลูกหนี้ที่ยึดไว้เป็นหลักประกันหรือตกอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้
มาตรา 94 เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่
(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้
(2) หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้

มาตรา 101 ถ้าลูกหนี้ร่วมบางคนถูกพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ร่วมคนอื่นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว
บทบัญญัติในวรรคก่อนให้ใช้บังคับแก่ผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันร่วม หรือบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้โดยอนุโลม

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ