ผู้จัดการมรดก | เจ้าของร่วม | อายุความ

จำเลยอ้างว่าโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดอายุความแต่ได้ความว่าโจทก์ฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างสามีโจทก์กับจำเลย มิใช่เรื่องที่โจทก์และจำเลยพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องในส่วนแบ่งทรัพย์มรดก แต่พิพาทกันในเรื่องความเป็นเจ้าของรวม หาใช่การฟ้องคดีมรดกไม่ จึงไม่อาจนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ซึ่งต้องฟ้องภายใน 1 ปี ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5634/2549 (ผู้จัดการมรดกกระทำผิดหน้าที่ อ่านต่อคลิ๊กที่นี่)

การฟ้องคดีมรดกตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1754 หมายถึงคดีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องในส่วนแบ่งทรัพย์มรดก

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาและเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ซึ่งมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกับจำเลยในที่ดินและมีคำขอบังคับให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันตกตามที่ ม. มีสิทธิครอบครอง จำเลยให้การว่า ม. ยกที่ดินส่วนของ ม. ให้แก่จำเลย และจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินส่วนที่ ม. ยกให้จนได้สิทธิครอบครองแล้ว ซึ่งเท่ากับเป็นการต่อสู้ว่า ม. มิใช่เจ้าของรวม แม้จำเลยจะให้การว่า ม. กับโจทก์ไม่มีบุตรด้วยกันและจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ม. ก็เป็นการยกขึ้นอ้างเพื่อสนับสนุนว่า ม. ยกที่ดินส่วนของ ม. ให้แก่จำเลยเท่านั้น จำเลยมิได้ให้การว่าจำเลยเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของ ม. ด้วยผู้หนึ่ง จึงมิใช่เรื่องที่โจทก์และจำเลยพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องในส่วนแบ่งทรัพย์มรดก แต่พิพาทกันในเรื่องความเป็นเจ้าของรวมที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุมาฟ้องขอแบ่งทรัพย์ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความหาใช่การฟ้องคดีมรดกไป จึงไม่อาจนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาใช้บังคับได้

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโม้ ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2527 โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายโม้ตามคำสั่งศาล นายโม้เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองร่วมกับจำเลยในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1094 เนื้อที่ 19 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา โดยโจทก์กับนายโม้ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินครึ่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันตก เนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 11.5 ตารางวา ส่วนที่ดินอีกครึ่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันออกเนื้อที่เท่ากันจำเลยเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ ต่อมาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2541 โจทก์ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายโม้แจ้งให้จำเลยร่วมกับโจทก์ไปยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดิน แต่จำเลยอ้างว่าที่ดินเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวและห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้อง ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันตก เนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 11.5 ตารางวา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินด้านทิศตะวันตกที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ หากแบ่งไม่ได้ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน

จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องสามีโจทก์กับจำเลยได้มาโดยทางมรดกและเป็นเจ้าของร่วมกัน สามีโจทก์กับโจทก์ไม่มีบุตรด้วยกัน และสามีโจทก์ยังมีที่ดินแปลงอื่นอีก เมื่อปี 2527 ขณะสามีโจทก์เจ็บป่วยใกล้ถึงแก่ความตาย สามีโจทก์จึงยกที่ดินส่วนของสามีโจทก์ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยแล้ว แต่ยังไม่ได้โอนทางทะเบียน เนื่องจากสามีโจทก์ถึงแก่ความตายไปเสียก่อน จำเลยเข้าครอบครองที่ดินส่วนของสามีโจทก์ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว จำเลยจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของสามีโจทก์ โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1094 ตำบลค้อน้อย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ให้โจทก์ครึ่งหนึ่งด้านทิศตะวันตกของที่ดิน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินส่วนของโจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ 1,000 บาท

จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาสั่งให้รับฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงมาว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโม้ คำนาโอมหรือคำภาโอม ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2527 โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายโม้ตามคำสั่งศาล นายโม้กับจำเลยมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกันในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1094 ตำบลค้อน้อย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ 19 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา โดยนายโม้มีสิทธิครอบครองที่ดินทางด้านทิศตะวันตกครึ่งหนึ่ง และยินยอมให้จำเลยเข้าทำประโยชน์โดยนายโม้มิได้สละการครอบครองหรือยกที่ดินส่วนของนายโม้ให้แก่จำเลย จำเลยเพียงแต่ครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนนายโม้ ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยมีว่า การที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์ในคดีนี้เป็นการฟ้องคดีมรดกซึ่งตกอยู่ภายใต้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 หรือไม่ เห็นว่า การฟ้องคดีมรดกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 หมายถึงคดีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องในส่วนแบ่งทรัพย์มรดก แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาและเป็นผู้จัดการมรดกของนายโม้ซึ่งมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกับจำเลยในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1094 และมีคำขอบังคับให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันตกตามที่นายโม้มีสิทธิครอบครอง สภาพแห่งคำฟ้องจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นภรรยาและผู้จัดการมรดกของนายโม้ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์ในฐานะเจ้าของรวม ส่วนจำเลยก็ให้การต่อสู้ว่า นายโม้ยกที่ดินส่วนของนายโม้ให้แก่จำเลย และจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินส่วนที่นายโม้ยกให้จนได้สิทธิครอบครองแล้ว ซึ่งเท่ากับเป็นการต่อสู้ว่านายโม้มิใช่เจ้าของรวมในที่ดินที่โจทก์จะมาฟ้องขอแบ่งได้ แม้จำเลยจะให้การว่านายโม้กับโจทก์ไม่มีบุตรด้วยกันและจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายโม้ก็ตาม แต่ก็เป็นการยกขึ้นอ้างเพื่อสนับสนุนว่านายโม้ยกที่ดินส่วนของนายโม้ให้แก่จำเลยเท่านั้น จำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนายโม้ด้วยผู้หนึ่ง ตามคำฟ้องและคำให้การจึงมิใช่เรื่องที่โจทก์และจำเลยพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องในส่วนแบ่งทรัพย์มรดก แต่พิพาทกันในเรื่องความเป็นเจ้าของรวมที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุมาฟ้องขอแบ่งทรัพย์ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ หาใช่การฟ้องคดีมรดกไม่ จึงไม่อาจนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาแบ่งทรัพย์มรดกของนายโม้ให้แก่โจทก์เกินส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งจำเลยได้ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบนั้น ศาลชั้นต้นเพียงแต่วินิจฉัยว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1094 เป็นของนายโม้และจำเลยคนละครึ่ง โดยนายโม้มีสิทธิครอบครองที่ดินทางด้านทิศตะวันตก ส่วนจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินทางด้านทิศตะวันออกและพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกให้แก่โจทก์ อันเป็นการแบ่งทรัพย์ที่นายโม้และจำเลยเป็นเจ้าของรวมตามฟ้องเท่านั้น มิใช่เป็นการแบ่งทรัพย์มรดกของนายโม้ให้แก่โจทก์เกินส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายซึ่งจะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังที่จำเลยกล่าวอ้าง และเมื่อจำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นในเรื่องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยถึงสิทธิของโจทก์และจำเลยในฐานะทายาทของนายโม้ว่ามีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกคนละเท่าใด แต่เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยจะต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวด้วยเหตุที่ว่ามิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เกินมา 125 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้สั่งคืน ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคืนแก่จำเลย"
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมา 125 บาท แก่จำเลย.
( ชัชลิต ละเอียด - สมชัย จึงประเสริฐ - บุญรอด ตันประเสริฐ )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1364 การแบ่งทรัพย์สิน พึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเอง ระหว่างเจ้าของรวม หรือ โดยขายทรัพย์สิน แล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน
ถ้า เจ้าของรวม ไม่ตกลงกันว่า จะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรไซร้ เมื่อเจ้าของรวม คนหนึ่งคนใดขอ ศาลจะสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง ถ้า ส่วนที่แบ่งให้ ไม่เท่ากันไซร้ จะสั่งให้ทดแทนกัน เป็นเงิน ก็ได้ ถ้า การแบ่งเช่นว่านี้ ไม่อาจทำได้ หรือ จะเสียหายมากนัก ก็ดี ศาลจะสั่งให้ขาย โดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวม หรือขายทอดตลาดก็ได้
มาตรา 1754 ห้ามมิให้ ฟ้องคดีมรดก เมื่อ พ้นกำหนด หนึ่งปี นับแต่ เมื่อ เจ้ามรดกตายหรือ นับแต่ เมื่อ ทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือ ควรได้รู้ ถึงความตายของ เจ้ามรดก
คดีฟ้องเรียก ตามข้อกำหนดพินัยกรรมมิให้ฟ้อง เมื่อ พ้นกำหนด หนึ่งปี นับแต่ เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้ หรือ ควรได้รู้ ถึงสิทธิ ซึ่ง ตนมีอยู่ ตามพินัยกรรม
ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้า สิทธิเรียกร้อง ของเจ้าหนี้ อันมีต่อ เจ้ามรดก มีกำหนดอายุความ ยาวกว่า หนึ่งปี มิให้ เจ้าหนี้นั้น ฟ้องร้อง เมื่อ พ้นกำหนด หนึ่งปี นับแต่ เมื่อ เจ้าหนี้ ได้รู้ หรือ ควรได้รู้ถึงความตาย ของเจ้ามรดก
ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้อง ตามที่ว่ามา ในวรรคก่อนๆนั้น มิให้ฟ้องร้อง เมื่อ พ้นกำหนด สิบปี นับแต่ เมื่อ เจ้ามรดกตาย

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ