สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข

สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข
ภัยพิบัติที่เกิดแก่ทรัพย์สินที่ซื้อขายในสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข
สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขแม้เป็นสัญญาต่างตอบแทนแต่มิใช่เป็นสัญญมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งตามมาตรา 370 คือ มาตรา 370 ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้ ท่านว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

ถ้าไม่ใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านให้ใช้บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้บังคับแต่เวลาที่ทรัพย์นั้นกลายเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งตามบทบัญญัติแห่ง มาตรา 195 วรรคสองนั้นไป " ดังนั้นเมื่อทรัพย์สินที่ซื้อขายสูญหายอันเป็นเหตุให้การชำระหนี้ของผู้ขายที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายตามสัญญซื้อขายมีเงื่อนไข เป็นอันพ้นวิสัยซึ่งจะโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้ ต้องบังคับตามมาตรา 372 คือ มาตรา 372 นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่

ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้ได้ ลูกหนี้ก็หาเสียสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่ แต่ว่าลูกหนี้ได้อะไรไว้เพราะการปลดหนี้ก็ดีหรือใช้คุณวุฒิความสามารถของตนเป็นประการอื่นเป็นเหตุให้ได้อะไรมาหรือแกล้งละเลยเสียไม่ขวนขวายเอาอะไรที่สามารถจะทำได้ก็ดี มากน้อยเท่าไร จะต้องเอามาหักกับจำนวนอันตนจะได้รับชำระหนี้ตอบแทน วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่การชำระหนี้อันฝ่ายหนึ่งยังค้างชำระอยู่นั้นตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นมิต้องรับผิดชอบในเวลาเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่รับชำระหนี้ " ผู้ขายซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้อันเป็นราคาทรัพย์ตอบแทนจากผู้ซื้อซึ่งเป็นเจ้าหนี้ เว้นแต่จะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นโดยให้ผู้ซื้อจะต้องรับผิดชำระราคาแม้ทรัพย์สินที่ซื้อขายจะสูญหายไปก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3728/2535

สัญญาซื้อขายรถยนต์ซึ่งระบุว่า กรรมสิทธิ์ของยานยนต์ที่ซื้อขายจะยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อจนกว่าผู้ซื้อจะได้ชำระราคาซื้อขายด้วยเงินสดครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาเสียก่อนนั้น เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข ย่อมบังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 เมื่อคู่สัญญาตกลงซื้อขายกำหนดราคากันไว้เป็นจำนวนแน่นอนและโจทก์ผู้ขายให้จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อชำระราคาในวันทำสัญญาจำนวนหนึ่งแล้วให้ผ่อนชำระราคาส่วนที่เหลือเป็นงวด และมีข้อตกลงว่าหากผู้ซื้อผิดนัดชำระราคางวดใด ยอมให้ผู้ขายเรียกให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งหมดได้ทันทีดังนี้ จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขาย เมื่อจำเลยที่ 1มิได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยผิดนัดชำระราคาตามงวดที่ได้ตกลงกันไว้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามข้อตกลงและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องร่วมรับผิดด้วย แม้จะปรากฏต่อมาว่าก่อนถึงกำหนดชำระราคางวดที่ 14 รถยนต์ที่ซื้อขายถูกคนร้ายลักไปโดยไม่ปรากฏว่า เป็นความผิดของโจทก์หรือจำเลยที่ 1ก็ตาม แต่ตามสัญญาซื้อขายระบุไว้ชัดว่า หน้าที่ความรับผิดของผู้ซื้อย่อมไม่หมดสิ้นไปเนื่องจากการสูญหายของยานยนต์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์แก่โจทก์จนครบถ้วนเพราะข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการยกเว้นบทบัญญัติมาตรา 372 วรรคแรกแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาย่อมตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ ไม่เป็นโมฆะตามมาตรา 114 เบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้ชำระแทนไป จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชำระให้โจทก์เต็มจำนวนตามสัญญา แต่ในส่วนอัตราดอกเบี้ยของเงินค่าเบี้ยประกันภัยมิได้กำหนดกันไว้ในสัญญาเหมือนเช่นเงินราคาค่ารถโจทก์จึงเรียกได้เพียงในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2528 จำเลยที่ 1ซื้อรถยนต์บรรทุกจากโจทก์ 1 คัน ราคา 788,248 บาท ชำระราคาครั้งแรก118,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระ 36 งวด งวดละเดือน เดือนละ 18,618บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระได้ 9 งวด แล้วไม่ชำระอีกจนกระทั่งรถถูกคนร้ายลักไปเมื่อวันที่9 มิถุนายน 2529 โจทก์ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัย 400,000 บาทโดยโจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ไป 25,187 บาท เมื่อนำเงินประกันและเบี้ยประกันหักชำระราคาแล้วจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระราคาอยู่ 127,893 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่รถหายจนถึงวันฟ้องเป็นเงินรวม 139,060 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 127,873บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคาเงินผ่อนโดยโจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มร้อยละ 14 ต่อปี จากราคาเงินสด 590,000 บาท รวมเป็นราคาเงินผ่อน 788,248 บาทเมื่อนำเงินประกัน 400,000 บาท และราคาที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้วมาหักออกจากราคาเงินสด โจทก์จะได้รับเงินไปคุ้มกับราคารถแล้วหากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดก็ไม่เกินราคาค่าเบี้ยประกัน 25,187 บาทเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีขอให้ยกฟ้อง

โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 23,238 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่6 ธันวาคม 2529 จนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การซื้อขายรถยนต์ตามสัญญาซื้อขาย ข้อ 1ระบุว่า กรรมสิทธิ์ของยานยนต์ที่ซื้อขายจะยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อจนกว่าผู้ซื้อจะได้ชำระราคาซื้อขายด้วยเงินสดครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาเสียก่อนนั้น เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขย่อมบังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459เมื่อคู่สัญญาตกลงซื้อขายกำหนดราคากันไว้เป็นจำนวนแน่นอนและผู้ขายให้ผู้ซื้อชำระราคาในวันทำสัญญาไว้จำนวนหนึ่งแล้วให้ผ่อนชำระราคาส่วนที่เหลือเป็นงวด และมีข้อตกลงว่าหากผู้ซื้อผิดนัดชำระราคางวดใดย่อมให้ผู้ขายเรียกให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลือพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งหมดได้ทันทีตามสัญญาซื้อขายข้อ 3จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขาย เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยผิดนัดชำระราคาตามงวดที่ได้ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1ต้องรับผิดชำระให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามข้อตกลงและจำเลยที่ 3ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องร่วมรับผิดด้วย แม้จะปรากฏต่อมาว่าเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2529 ซึ่งเป็นเวลาก่อนถึงกำหนดชำระราคารถยนต์งวดที่ 14 รถยนต์ที่ซื้อขายถูกคนร้ายลักไปโดยไม่ปรากฏว่าเป็นความผิดของโจทก์หรือจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ตามสัญญาซื้อขายข้อ 2 ระบุไว้ชัดว่า หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ซื้อย่อมไม่หมดสิ้นไปเนื่องจากการสูญหายของยานยนต์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์แก่โจทก์จนครบถ้วน เพราะข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการยกเว้นบทบัญญัติมาตรา 372 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาย่อมตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ ไม่เป็นโมฆะตามมาตรา 114 เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระราคาจนครบถ้วนตามสัญญา จำเลยที่ 1ก็ต้องรับผิด ไม่มีทางที่จะแปลสัญญาเป็นอย่างอื่นไปได้ สำหรับเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้ชำระแทนไป จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชำระให้โจทก์เต็มจำนวน แต่ในส่วนอัตราดอกเบี้ยของเงินค่าเบี้ยประกันภัยมิได้กำหนดกันไว้ในสัญญาเหมือนเช่นเงินราคาค่ารถ โจทก์จึงเรียกได้เพียงในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เท่านั้น ทั้งเงินราคาค่ารถและเงินค่าเบี้ยประกันภัยโจทก์คิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1และที่ 3 ผิดนัด ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2529

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 102,686 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว และชำระเงินจำนวน 25,187 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 6ธันวาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 151 การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นไม่เป็นโมฆะ
มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
(วรรคสอง)ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด
(วรรคสาม)การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้

มาตรา 368 สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย

มาตรา 372 นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่
(วรรคสอง)ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้ได้ ลูกหนี้ก็หาเสียสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่ แต่ว่าลูกหนี้ได้อะไรไว้เพราะการปลดหนี้ก็ดีหรือใช้คุณวุฒิความสามารถของตนเป็นประการอื่นเป็นเหตุให้ได้อะไรมาหรือแกล้งละเลยเสียไม่ขวนขวายเอาอะไรที่สามารถจะทำได้ก็ดี มากน้อยเท่าไร จะต้องเอามาหักกับจำนวนอันตนจะได้รับชำระหนี้ตอบแทน วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่การชำระหนี้อันฝ่ายหนึ่งยังค้างชำระอยู่นั้นตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นมิต้องรับผิดชอบในเวลาเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่รับชำระหนี้
มาตรา 459 ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเงื่อนไขเวลานั้น
มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
(วรรคสอง)อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 869 อันคำว่า "วินาศภัย" ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอา ความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ