สิทธิรับมรดกก่อนหลัง

ทายาทโดยธรรม สิทธิรับมรดกก่อนหลัง
สิทธิในการรับมรดกก่อนหลังระหว่างน้องชายร่วมบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกับบุตรของลุงที่ชอบด้วยกฎหมาย(บุตรของลุงผู้ตาย) เจ้ามรดกผู้ตายมีน้องชายร่วมบิดาเดียวกันและมีบุตรชอบด้วยกฎหมายของลุงซึ่งลุงเสียชีวิตแล้วจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ลุงของผู้ตาย และไม่มีทายาทอื่น ใครเป็นผู้รับมรดกของผู้ตายนั้น เมื่อน้องชายร่วมบิดาเดียวกันเป็นทายาทลำดับที่ 4 ส่วนบุตรของลุงมีสิทธิได้รับมรดกแทนที่ลุงซึ่งเป็นทายาทในลำดับที่ 6 จึงถูกลำดับที่ 4 ตัดไม่ให้ได้รับมรดก(ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย ตาม มาตรา 1630)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2545

การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้กำหนดว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันแล้ว การที่จะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันผลก็จะกลายเป็นว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมีได้แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการตีความที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแคบเกินกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมายและมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้ทายาทโดยธรรมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลังและตัดญาติห่างซึ่งอยู่ในลำดับถัดลงไปไม่ให้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 ทั้งการเป็นพี่น้องด้วยกันนี้ก็หามีบทบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกันเหมือนเช่นการเกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฉะนั้น การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจึงต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อผู้ร้องและผู้ตายต่างมีบิดาคนเดียวกัน แม้จะเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ถือว่าผู้ร้องกับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านที่เข้ารับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นลุงของผู้ตายถือเป็นทายาทในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามมาตรา 1630 จึงไม่มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องคัดค้านการที่ผู้ร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นน้องร่วมบิดาเดียวกันกับนายคำ กันใหม่ ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2543 โดยมารดาผู้ตายและมารดาผู้ร้องกับบิดาผู้ตายและผู้ร้องได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ขณะถึงแก่ความตาย ผู้ตายยังเป็นโสด มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 2 แปลง กับเงินฝากในธนาคาร ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมและมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้และมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ตายกับผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629(4) และไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายใจ๋ แก้วศรี ลุงผู้ตายซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ผู้คัดค้านมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่ ในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(6) และมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ขอให้ยกคำร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ในวันนัดไต่สวนพยานผู้ร้องนัดแรก ศาลชั้นต้นเห็นว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) ถือตามสถานภาพตามความเป็นจริงหาได้คำนึงถึงว่าจะต้องเกิดจากบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ เมื่อผู้ตายและผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมลำดับที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) ผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ6 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(6) จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมลำดับหลังถัดลงไปจากผู้ร้อง จึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายไม่อาจยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อขอตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 ได้ จึงมีคำสั่งยกคำคัดค้าน แล้วศาลชั้นต้นไต่สวนสืบพยานผู้ร้องและมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านเพียงข้อกฎหมายประการเดียวว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่าผู้ร้องกับผู้ตายเป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายทา กันใหม่ จึงไม่ใช่พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิร้องขอจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายนั้นศาลฎีกาเห็นว่า การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้บัญญัติว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันแล้ว หากจะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันดังที่ผู้คัดค้านฎีกาแล้ว ผลก็จะกลายเป็นว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมีได้ก็แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้นการตีความเช่นนี้เห็นได้ชัดว่าจะทำให้การบังคับใช้บทกฎหมายดังกล่าวแคบเกินกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมาย และมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่บัญญัติให้ทายาทโดยธรรมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลังและตัดญาติห่างซึ่งอยู่ในลำดับถัดลงไปให้ไม่มีสิทธิในมรดกของผู้ตาย ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงต้องถือความเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามความเป็นจริง เมื่อผู้ร้องเกิดจากนางหนึ้ง กันใหม่ มารดา ผู้ตายเกิดจากนางทา แก้วศรี มารดา โดยมีนายทา กันใหม่ เป็นบิดาเดียวกัน แม้ผู้ร้องกับผู้ตายเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ของนายทา บิดา ก็ถือได้ว่าผู้ร้องกับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629(4) เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านเข้ารับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นลุงผู้ตายและถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 จึงไม่มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องคัดค้านการที่ผู้ร้องขอจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายได้ คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างมาในฎีกาเพื่อนำมาเทียบเคียงนั้น ศาลฎีกาในคดีดังกล่าววินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรผู้ตาย จึงเป็นคนละอย่างต่างกับคดีนี้ และศาลฎีกาเห็นพ้องกับข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 กล่าวคือ การเป็นบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นย่อมก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่ในระหว่างบิดากับบุตรตามกฎหมาย การตีความให้สิทธิแก่บิดาในอันที่จะมีสิทธิในมรดกของบุตรผู้ตาย ซึ่งต้องแปลว่าจะต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรเท่านั้น ย่อมสอดคล้องรองรับกับสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่มีอยู่ตามกฎหมาย แต่การเป็นพี่น้องด้วยกันหาได้มีบทกฎหมายบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกันไม่ จึงไม่สามารถนำมาเป็นเหตุผลเทียบเคียงกับคดีนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาต้องตามกันมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน
( สุภิญโญ ชยารักษ์ - วิชา มหาคุณ - วิชัย วิวิตเสวี )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับ แห่ง มาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่ง ต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของ บทบัญญัติพิเศษแห่ง
มาตรา 1635
มาตรา 1630 ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ใน มาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใด ยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณีและมีบิดามารดายังมีชีวิต อยู่ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร
มาตรา 1639 ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตาม มาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อน เจ้ามรดกตายถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทน ที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัด มิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับ มรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคล เป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้
(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไปหรืออยู่นอกราชอาณาเขตหรือเป็นผู้เยาว์
(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการหรือในการแบ่งปันมรดก
(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ
การตั้งผู้จัดการมรดกนั้นถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่ข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
ป.พ.พ. มาตรา 1629, 1630, 1639, 1713

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ