อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์

การบรรยายฟ้องในความผิดฐานขาย มีไว้เพื่อขายงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรในทางการค้า ต้องมีสาระสำคัญว่างานดังกล่าวยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์อย่างไร เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายว่างานที่นิติบุคคลเป็นผู้สร้างสรรค์มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด แม้จำเลยให้การรับสารภาพ หากศาลเห็นว่าพ้นอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์แล้ว ศาลก็ต้องยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10515/2551

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) บัญญัติว่า ฟ้องต้องมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ในความผิดฐานขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรในทางการค้า โดยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานนั้นกระทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองโดยได้มาตามเงื่อนไขของกฎหมาย และต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย การที่จะรู้ว่างานสร้างสรรค์ใดของนิติบุคคลผู้สร้างสรรค์ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์อยู่หรือไม่ ต้องรู้ว่างานสร้างสรรค์นั้นมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด เนื่องจากมาตรา 19 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก” เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่างานที่นิติบุคคลเป็นผู้สร้างสรรค์มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใดซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญ แม้จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง แต่ถ้าศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเพราะงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์นั้นพ้นอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์แล้ว ศาลก็ต้องพิพากษายก ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 5, 6, 8, 15, 31, 61, 70, 75, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ให้ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ กับจ่ายเงินค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษากึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) บัญญัติว่าฟ้องต้องมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ในความผิดฐานขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรในทางการค้า โดยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานนั้นกระทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง มีองค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำคือ กระทำการขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น งานที่มีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง กล่าวคือ ต้องเป็นงานที่กฎหมายลิขสิทธิ์รับรองว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น งานศิลปกรรม ทั้งนี้ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ต้องเป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด เช่น ได้มาโดยการสร้างสรรค์งานเองตามมาตรา 6 หรือได้มาโดยการรับโอนลิขสิทธิ์ตามมาตรา 17 ทั้งยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของการได้มาที่กฎหมายกำหนดในมาตรา 8 ซึ่งอนุมาตรา (2) ของมาตรานี้บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการโฆษณางานนั้นแล้ว การโฆษณางานนั้นครั้งแรกต้องกระทำขึ้นในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย นอกจากนี้ งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลาให้ได้รับความคุ้มครองอยู่ภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้ว งานลิขสิทธิ์จะตกเป็นสมบัติสาธารณะที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้ ฉะนั้นหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบของงานสร้างสรรค์ที่จะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาจึงเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นสาระสำคัญ ในส่วนขององค์ประกอบความผิดที่ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้น การที่จะรู้ว่างานสร้างสรรค์ใดของนิติบุคคลผู้สร้างสรรค์ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์อยู่หรือไม่ ก็ย่อมต้องรู้ว่างานสร้างสรรค์นั้นมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด เนื่องจากมาตรา 19 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก” ดังนั้นการบรรยายในคำฟ้องว่างานที่นิติบุคคลเป็นผู้สร้างสรรค์มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใดจึงเป็นส่วนสาระสำคัญ มิใช่รายละเอียดเล็กน้อยดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ปรากฏถึงวันเวลาที่นิติบุคคลผู้สร้างสรรค์ได้มีการโฆษณางานดังกล่าวเป็นครั้งแรกไว้อย่างชัดแจ้ง จึงย่อมเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยได้ให้การรับสารภาพตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว ย่อมถือได้ว่าจำเลยเข้าใจการกระทำความผิดตามฟ้องทุกประการ รูปคดีจึงมีเหตุผลที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้นั้น เห็นว่า แม้จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง แต่ถ้าศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเพราะงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์นั้นพ้นอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์แล้ว ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุว่าฟ้องของโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดเนื่องจากไม่บรรยายถึงวันเวลาในการโฆษณางานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในครั้งแรกจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.
( อร่าม เสนามนตรี - พลรัตน์ ประทุมทาน - รัตน กองแก้ว )
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง - นายภมร สัตตภรณ์พิภพ
ป.วิ.อ. มาตรา 158(5)
มาตรา 158 ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี
(1) ชื่อศาลและวันเดือนปี
(2) คดีระหว่างผู้ใดโจทก์ ผู้ใดจำเลย และฐานความผิด
(3) ตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ ถ้าราษฎรเป็นโจทก์ ให้ใส่ชื่อตัว นามสกุล อายุ ที่อยู่ ชาติและบังคับ
(4) ชื่อตัว นามสกุล ที่อยู่ ชาติและบังคับของจำเลย
(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลย เข้าใจข้อหาได้ดี
ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียนหรือสิ่งอื่น อันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง
(6) อ้าง มาตรา กฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็น ความผิด
(7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19, 31(1), 70 วรรคสอง
มาตรา 19 ภายใต้บังคับ มาตรา 21 และ มาตรา 22 ลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
ในกรณีที่มีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวให้มีอยู่ตลอดอายุของ ผู้สร้างสรรค์ร่วม และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ ความตาย
ถ้าผู้สร้างสรรค์หรือผู้สร้างสรรค์ร่วมทุกคนถึงแก่ความตายก่อนที่ได้มีการโฆษณา งานนั้น ให้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มี อายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
มาตรา 31 ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิด ลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการ ละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือ เสนอให้เช่าซื้อ
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
(4) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
มาตรา 70 ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม มาตรา 31 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้กระทำ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
มาตรา 26 กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และข้อกำหนดตาม มาตรา 30 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนด ดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือประมวลกฎมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ