เป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม

การที่จำเลยนำบัตรเครดิตของผู้อื่นไปชำระค่าสินค้า 3 ครั้งการชำระแต่ละครั้งเป็นความผิดสำเร็จแยกจากกันคนละคราวต่างกรรมต่างวาระและสินค้าที่ซื้อเป็นสินค้าคนละประเภทกัน การกระทำความผิด 3 ครั้งย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยเข้าใจไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6820/2552


การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) ซึ่งออกให้แก่ น. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ น. และบริษัท บ. แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 188

การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. ซึ่งออกให้แก่ น. แล้วใช้บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดอันเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ มาตรา 269/7 รวม 3 ครั้ง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อๆ และการกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นทรัพย์คนละประเภทแตกต่างกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตกับฐานใช้บัตรเครดิตจึงเป็นความผิดหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิด 3 กรรมต่างกัน

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 188, 269/5, 269/7

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น จำคุก 1 ปี ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบ เป็นความผิด 3 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) ได้ให้คำนิยามของคำว่า “เอกสาร” ไว้ว่า หมายความว่ากระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผังหรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดจึงเป็นเอกสารตามบทนิยามดังกล่าว และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสาร ตามมาตรา 188 กฎหมายมุ่งที่จะคุ้มครองเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานในทำนองเดียวกันกับพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่นเป็นสำคัญโดยเป็นการเอาไปจากที่เอกสารนั้นอยู่ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนที่อาจต้องขาดเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานหรือใช้ประโยชน์จากเอกสารดังกล่าว และมิได้บัญญัติโดยมุ่งหมายเฉพาะการกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หมวด 1 ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ที่มุ่งคุ้มครองถึงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในการเป็นเจ้าของเอกสาร ดังนั้น การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์และเอาสารสิทธิ ซึ่งออกให้แก่นางสาวบุปผา ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาวบุปผา บริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 188 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งออกให้แก่นางสาวบุปผา แล้วใช้บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดรวม 3 ครั้ง เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อๆ คือ ข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.4 การกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง ต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นทรัพย์คนละประเภทแตกต่างกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จากนั้นจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดรวม 3 ครั้ง ย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบ เป็นความผิด 3 กรรม หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของนางสาวบุปผาไปใช้ซื้อสินค้าจำนวน 2 รายการ ที่ร้านบิ๊กคาเมร่าในเวลาเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกัน นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อ 2.3 และ 2.4 โดยในข้อ 2.3 มีใจความว่า จำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้ากล้องวิดีโอแทนการชำระด้วยเงินสดที่ร้านบิ๊กคาเมร่า ส่วนในข้อ 2.4 มีใจความว่าภายหลังเกิดเหตุตามฟ้องข้อ 2.3 จำเลยนำบัตรเครดิตีวิซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้ากล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดที่ร้านบิ๊กคาเมร่า และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้ว ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยุติตามฟ้องโจทก์ เมื่อจำเลยฎีกาโต้แย้งทำนองว่า จำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ซื้อสินค้าทั้งสองรายการที่ร้านบิ๊กคาเมร่าในเวลาเดียวกันจึงเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งหยิบยกขึ้นมาว่ากล่าวในภายหลัง ซึ่งขัดแย้งกับฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลย เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด 3 กรรมต่างกัน

อนึ่ง ภายหลังกระทำความผิดจำเลยได้นำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งออกให้แก่นางสาวบุปผาไปส่งมอบให้แก่พนักงานเก็บเงินของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาลาดพร้าว เพื่อประกาศตามหาเจ้าของ และผู้เสียหายได้รับสินค้าของกลางคืนแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุกจำเลยมานั้นหนักเกินไปเห็นสมควรกำหนดโทษสำหรับความผิดทั้งสองฐานเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นจำคุก 6 เดือน ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบ จำคุกกระทงละ 6 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.
( บุญส่ง โพธิ์พุทธชัย - ธานิศ เกศวพิทักษ์ - สิงห์พล ละอองมณี )
ศาลอาญา - นางสาวอรกมล เจนนิรมาณ
ศาลอุทธรณ์ - นายศิริชัย ศิริกุล
ป.อ. มาตรา 1, 91, 188, 269/5, 269/7

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ