คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน | เป็นที่สุด

คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินต่าง ๆ ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ปัญหาว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ เป็นกรณีที่จำเลยจะต้องโต้แย้งให้เป็นประเด็นไว้ในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานและหากพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งอย่างใดแล้ว จำเลยไม่พอใจจำเลยย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง หากไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด คำสั่งนั้นเป็นที่สุด จำเลยจึงหามีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องความเป็นนายจ้างลูกจ้างกันซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานตรวจแรงงานมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นนี้มาว่าโจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง เมื่อปรากฏว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถูกส่งไปให้บริษัทจำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับโดยมีผู้ลงชื่อรับคำสั่ง จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงได้รับคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยชอบแล้วจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุด จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง เมื่อไม่ชำระในกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด สำหรับค่าจ้างและค่าชดเชย จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่เงินที่กฎหมายบัญญัติให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยจึงมีหน้าที่เสียดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6076 - 6077/2549

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินต่าง ๆ ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน คดีมีประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดหรือไม่และจำเลยได้จ่ายเงินตามฟ้องให้โจทก์แล้วหรือไม่เท่านั้น ปัญหาว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ เป็นกรณีที่จำเลยจะต้องโต้แย้งให้เป็นประเด็นไว้ในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานและหากพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งอย่างใดแล้ว จำเลยไม่พอใจจำเลยย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง หากไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด คำสั่งนั้นเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง เมื่อจำเลยมิได้ใช้สิทธินำคดีสู่ศาลแรงงานตามบทบัญญัติดังกล่าว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด จำเลยจึงหามีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องความเป็นนายจ้างลูกจ้างกันซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานตรวจแรงงานมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นนี้มาว่าโจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

เมื่อปรากฏว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถูกส่งไปให้บริษัทจำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับโดยมีผู้ลงชื่อรับคำสั่งระบุความเกี่ยวพันกับจำเลยว่าเป็นพนักงานจำเลย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงได้รับคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 143 วรรคหนึ่งแล้วจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ตามมาตรา 124 วรรคสาม เมื่อไม่ชำระในกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด สำหรับค่าจ้างและค่าชดเชย จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่เงินตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยจึงมีหน้าที่เสียดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่งเท่านั้น
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 9 ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันตาม มาตรา 10 วรรค 2 หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และ ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ภายในเวลาที่กำหนดตาม มาตรา 70 หรือ ค่าชดเชยตาม มาตรา 118 ค่าชดเชยพิเศษตาม มาตรา 120 มาตรา 121 และ มาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี
ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน
ในกรณีที่นายจ้างพร้อมที่จะคืนหรือจ่ายเงินตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง และได้นำเงินไปมอบไว้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย เพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่นายจ้างนำเงินนั้นไปมอบไว้
มาตรา 124 เมื่อมีการยื่นคำร้องตาม มาตรา 123 ให้พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รับคำร้อง
ในกรณีที่มีความจำเป็นไม่อาจมีคำสั่งภายในเวลาตามวรรค 1 ได้ให้พนักงานตรวจแรงงานขอขยายเวลาต่ออธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายพร้อมด้วยเหตุผลและอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอาจพิจารณาอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องมีระยะเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดตามวรรคหนึ่ง
เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วปรากฎว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้ นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรม ของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง
ให้นายจ้างจ่ายเงินตามวรรคสามให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตาย ณ สถานที่ทำงาน ของลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายร้องขอให้พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าว ณ สำนักงานของพนักงานตรวจแรงงานหรือสถานที่อื่นตามที่นายจ้างและลูกจ้างหรือ ทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายตกลงกัน
ในกรณีที่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่มารับเงินดังกล่าวภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่ง ให้พนักงานตรวจแรงงานนำส่งเงินนั้นเพื่อเก็บรักษาในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างโดยฝากไว้กับธนาคารในการนี้ ถ้ามีดอกเบี้ยหรือดอกผลใด เกิดขึ้นเนื่องจากการฝากเงินให้ตกเป็นสิทธิแก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายซึ่งมีสิทธิได้รับเงินนั้น
ในกรณีที่พนักงานตรวจแรงงานเห็นว่าลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่มีสิทธิได้ รับเงินตาม มาตรา 123 ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่ง และแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างและลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายทราบ

มาตรา 125 เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตาม มาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมขอ ลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
ในกรณีที่นายจ้างลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด
ในกรณที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาลนายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้นจึงจะฟ้องคดีได้
เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายได้
มาตรา 143 ในการส่งคำสั่งหรือหนังสือของอธิบดีหรือพนักงานตรวจแรงงานซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือพนักงานตรวจแรงงานจะนำไปส่งเองหรือให้เจ้าหน้าที่นำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของนายจ้างในเวลาทำการของนายจ้างถ้าไม่พบนายจ้าง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของนายจ้างหรือพบนายจ้างแต่นายจ้างปฏิเสธไม่ยอมรับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ ปรากฎว่า เป็นของนายจ้างนั้นก็ได้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้วให้ถือว่านายจ้างได้รับคำสั่งหรือ หนังสือของอธิบดีหรือพนักงานตรวจแรงงานนั้นแล้ว
ถ้าการส่งตามวรรคหนึ่งไม่สามารถกระทำได้ให้ส่งโดยปิดคำสั่งหรือหนังสือของอธิบดีหรือพนักงานตรวจแรงงานในที่ซึ่ง เห็นได้ง่าย ณ สำนักงานของนายจ้าง สถานที่ทำงานของลูกจ้าง ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ของนายจ้าง เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวและเวลาได้ล่วงพ้นไปไม่น้อยกว่าสิบห้าวันแล้วให้ถือว่านายจ้างได้รับคำสั่งหรือหนังสือของอธิบดีหรือพนักงานตรวจแรงงานนั้น แล้ว

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมา ใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 224 หนี้เงินนั้นท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 142 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่

...(5) ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้นเมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้...

มาตรา 246 เว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ดังกล่าวมาข้างต้น บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีใน ศาลชั้นต้นนั้นให้ใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้โดยอนุโลม

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ