สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะ

สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะ
สัญญาซื้อขายที่มีวัตถุประสงค์เป็นการฝ่าฝืนข้อต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2533

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามผู้มีสิทธิในที่ดินโอนที่ดินไปยังผู้อื่นภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เป็นต้นไป นอกจากตกทอดทางมรดกตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 31 การที่จำเลยได้ที่ดินพิพาทมาโดยทางมรดก และทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนดังกล่าวโดยได้รับเงินกับมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองแล้ว แม้มีข้อตกลงว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยประกาศรับมรดกเสร็จแล้วก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ สารบบเลขที่ 101 หน้า 22 เล่มที่ 1 หมู่ที่ 2 ตำบลกันจุ อำเภอหนองไผ่ (บึงสามพัน) ให้แก่โจทก์ในราคา 60,000 บาทโดยตกลงว่าจำเลยจะดำเนินการจดทะเบียนโอนชื่อผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวจากสามีจำเลยมาเป็นชื่อจำเลยแล้วจดทะเบียนโอนต่อให้โจทก์ โจทก์ได้มอบเงินให้จำเลยรับไปครบถ้วนแล้ว และเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา ต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนโอนชื่อผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่กลับปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนโอนให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนชื่อผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์สารบบเลขที่ 101หน้า 22 เล่ม 1 หมู่ที่ 2 ตำบลกันจุ อำเภอบึงสามพัน (หนองไผ่)จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นชื่อโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ทั้งไม่เคยได้รับเงินจากโจทก์โจทก์ทราบดีว่าจำเลยไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทเนื่องจากเป็นของสามีจำเลยซึ่งถูกคนร้ายลอบยิงตาย โจทก์จึงขอเช่าจากจำเลยและเข้าครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะผู้เช่า และไม่เคยแจ้งการเสียภาษีบำรุงท้องที่แต่อย่างใด ทั้งไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายเนื่องจากไม่มีการซื้อขายกันจริง ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยทำสัญญาขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย เอกสารหมาย จ.1 แล้วจำเลยผิดสัญญาไม่จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.1 มีผลใช้บังคับได้หรือไม่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งทางราชการห้ามโอนจำหน่ายแก่กัน ให้ตกทอดกันได้เฉพาะทางมรดกเรียกกันว่าเป็น น.ส.3 หลังแดงและได้ความจากฎีกาของโจทก์ว่า ข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าวเป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 31 เห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ห้ามผู้ได้สิทธิในที่ดินโอนที่ดินไปยังผู้อื่นภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เป็นต้นไป นอกจากตกทอดทางมรดก สำหรับที่ดินพิพาทนั้นปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ว่า ทางราชการออกให้แก่นายม่วง สีเสียดสามีของจำเลยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2516 ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจะโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2526 ไม่ได้เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การที่จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งตกทอดเป็นมรดกแก่ตนให้โจทก์ในราคา 60,000 บาทตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2519 ซึ่งอยู่ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนดังกล่าว และได้รับเงินกับได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองแล้ว แม้จะมีข้อตกลงว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์เมื่อจำเลยประกาศรับมรดกเสร็จแล้วก็ตามก็ถือได้ว่า เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย"
พิพากษายืน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2548

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินจัดสรรของสหกรณ์จำเลยที่ 2 การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงอยู่ภายใต้บังคับข้อกำหนดห้ามโอนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้โจทก์จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 โจทก์เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 6 เลขที่ดิน 1 หมู่ที่ 9 ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย เนื้อที่ 15 ไร่ เดิมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินซึ่งนายสนับ เคลือบสูงเนิน บิดาของจำเลยที่ 1 ได้สิทธิครอบครองตามหนังสืออนุญาตประเภท กสน. 3 จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ วันที่ 1 เมษายน 2531 นายสนับทำสัญญาขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ในราคา 150,000 บาท โจทก์เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของนายสนับขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว และวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นวันที่ 24 เมษายน 2539 จำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2 นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยทำประโยชน์บนที่ดินอันเป็นการฉ้อฉล ทำให้โจทก์เสียเปรียบ และไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 6 เลขที่ดิน 1 หมู่ที่ 9 ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2539

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์นิคม โดยมอบอำนาจให้นายไพศาล สุขสุผิว เป็นผู้ดำเนินคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารคำให้การหมายเลข 1 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนจึงตกเป็นโมฆะ ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งจัดสรรให้ผู้ไม่มีที่ทำกินและอยู่ในบังคับห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 จำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า"พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ นายสนับ เคลือบสูงเนิน และจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 15 ไร่ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 6 เลขที่ดิน 1 หมู่ที่ 9 ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ตามเอกสารหมาย จ.6 มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ วันที่ 24 เมษายน 2539 จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินจำนวน 225,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.10 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า นายไพศาล สุขสุผิว มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายไพศาลดำเนินคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายคำให้การ โจทก์มิได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 มิใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 ศาลจึงรับฟังตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายคำให้การได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้มอบอำนาจให้นายไพศาลดำเนินคดีแพ่งแทนจำเลยที่ 2 นายไพศาลจึงมีอำนาจดำเนินคดีนี้แทนจำเลยที่ 2 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นแล้วว่าภายหลังจากนายสนับบิดาของจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทได้สมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 และนำหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทประเภท กสน. 5 ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ซึ่งทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2539 ตามเอกสารหมาย จ.6 และต่อมาโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 ตามหนังสือสัญญาการซื้อขายเอกสารหมาย จ.7 โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินจัดสรรของจำเลยที่ 2 การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงอยู่ภายใต้บังคับข้อกำหนดห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี" การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แม้โจทก์จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาของโจทก์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
มาตรา ๑๒ ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ แล้วแต่กรณี
ภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2536

แม้จะรับฟังตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยแต่เมื่อขณะทำการซื้อขายที่ดินพิพาทยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนที่ดินพิพาทภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิ การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยและการที่จำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 แม้โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยอยู่

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณกลางปี 2516 โจทก์ซื้อที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จากจำเลยในราคา 10,500 บาท โดยโจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วและจำเลยได้ส่งมอบการครอบครองให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ตั้งแต่ปีที่ซื้อขาย แต่ยังมิได้มีการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียน ต่อมากลางปี 2530 โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยไปทำการโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ จำเลยปฏิเสธอ้างว่ายังเป็นของจำเลยและจะนำไปขายให้แก่บุคคลอื่น ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินตาม น.ส.3 ก. ดังกล่าว เป็นของโจทก์ผู้มีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวรบกวนสิทธิการครอบครองที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยโอนเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนในที่ดินน.ส.3 ก. ดังกล่าวแก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหากจำเลยไม่ไปโอนเปลี่ยนชื่อให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ จำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์ 3,000 บาท โดยไม่ได้ทำสัญญากู้แต่ได้มอบน.ส. 3 ก. ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ จำเลยไม่ได้สละการครอบครองที่ดินแก่โจทก์ จำเลยทำกินอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยไปโอนเปลี่ยนชื่อทางทะเบียน ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า ในปี 2516 โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยและนายบัวบิดาจำเลยในราคา 10,500 บาทชำระราคาที่ดินให้แล้วจำเลยได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าทำกินตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ แต่ความปรากฏว่า ทางราชการมีข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินพิพาทภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.1 คือ ปี 2516ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ ขณะโจทก์จำเลยซื้อขายที่ดินพิพาทกันในปี 2516 ยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนที่ดินพิพาทตามกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยและการที่จำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 แม้โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยอยู่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน

ประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา ๕๘ ทวิ เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา ๕๘ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ คือ
(๑) ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
(๒) ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ ตรี
(๓) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดินตามวรรคสอง (๑) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครอบและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

สำหรับบุคคลตามวรรคสอง (๒) และ (๓) ให้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่ จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการเฉพาะราย ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (๓) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์

ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามวรรคห้า ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8840/2549

หลังจากบิดาจำเลยขายและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทตาม น.ส. 3 จนพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนแล้ว บิดาจำเลยไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีกเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าบิดาจำเลยสละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไปตาม มาตรา 1377 คือ มาตรา 1377 ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือ ทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง

ถ้าเหตุอันมีสภาพเป็นเหตุชั่วคราวมีมาขัดขวางมิให้ผู้ครอบครองยึดถือ ทรัพย์สินไซร้ ท่านว่าการครอบครองไม่สุดสิ้นลง " แม้โจทก์ได้ซื้อและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน โจทก์จะไม่ได้สิทธิครอบครองเนื่องจากถูกจำกัดสทิธิโดยบทบัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 คือ มาตรา ๓๑ โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ได้ออกสืบเนื่องมาจากใบจองตามมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๓ ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) ถ้าเป็นกรณีที่ได้ออกใบจองในหรือหลังวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ห้ามโอนภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์

(๒) ถ้าเป็นกรณีที่ได้ออกใบจองก่อนวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เฉพาะที่รัฐให้การช่วยเหลือในด้านสาธารณูปโภคและอื่นๆ เนื่องจากการจัดที่ดิน ห้ามโอนภายในกำหนดห้าปี นับแต่วันได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ที่ดินนั้นตกทอดทางมรดกหรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์

ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี" แต่เมื่อโจทก์ได้ครอบครองมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม มาตรา 1367 คือ มาตรา 1367 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง" นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนและกรณีดังกล่าวโจทก์มิได้ครอบครองที่ดินแทนบิดาจำเลยหรือจำเลยซึ่งเป็นทายาท จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตาม มาตรา 1381 คือ มาตรา 1381 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบ ครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก " มาใช้บังคับแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 548/2546

การได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 9 ไม่ได้บัญญัติให้โอนกันได้ และไม่มีบทกฎหมายหรือกฎกระทรวงฉบับใดกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตโอนสิทธิหรืออำนาจตลอดจนวิธีดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเป็นการหาประโยชน์ในที่ดินของรัฐให้แก่บุคคลอื่นได้ การอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐในกรณีดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่ออนุญาตให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นการเฉพาะตัวเท่านั้น การที่ผู้ได้รับอนุญาตโอนสิทธิดังกล่าวย่อมเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 9 อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้เนื่องจากตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ระเบิดและย่อยหินระบุให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการด้วยตนเอง จะให้ผู้อื่นดำเนินการหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ หากผู้รับโอนเข้าไปทำประโยชน์หรือใช้ที่ดินของรัฐโดยระเบิดและย่อยหินเองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 อาจมีความผิดตามมาตรา 108 ทวิ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาซื้อขายหินกับโจทก์ในสภาพสังหาริมทรัพย์ แต่ให้โจทก์เป็นผู้ระเบิดและย่อยหินเองได้นั้น เป็นการทำสัญญาเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดหินและย่อยหิน ในเมื่อโจทก์กับจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่แท้จริงจะโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหินแก่กัน สัญญาดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะ ทั้งกรณีหาใช่การให้สัมปทานตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 12 ไม่

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2535 โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินในสภาพสังหาริมทรัพย์ในบริเวณที่ดินตั้งอยู่เขามะขามเฒ่า หมู่ที่ 3ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ซึ่งจำเลยทั้งสองได้รับสัมปทานอนุญาตให้ทำการระเบิดและย่อยหินจากทางราชการตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 โดยโจทก์ต้องเป็นผู้เข้าไปทำการระเบิดและย่อยหินเอง และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตระเบิดและย่อยหินท้ายสัญญา โจทก์ได้ชำระเงินค่าซื้อหินบางส่วนให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางละมุงรวม 2 ฉบับ จำนวนเงิน 6,000,000 บาท และ 24,000,000 บาท และได้มอบโฉนดเลขที่ 14 ตำบลบางมูล อำเภอบางปลา เมืองนครชัยศรี เพื่อเป็นประกันค่าซื้อหินแก่จำเลยทั้งสอง ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพื้นที่พบว่ามีถ้ำ พระพุทธรูป สำนักสงฆ์ และพระภิกษุประจำอยู่และได้รับการทักท้วงว่าผู้ได้รับอนุญาตต้องทำการระเบิดหินเองโจทก์จึงไม่นำเงินเข้าบัญชีของผู้สั่งจ่ายเช็ค และได้สอบถามไปยังกรมที่ดินและจังหวัดสระบุรี ได้รับแจ้งว่าผู้ได้รับอนุญาตระเบิดและย่อยหินต้องดำเนินการเองจะโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและตกเป็นโมฆะโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คทั้งสองฉบับและโฉนดที่ดินคืนให้แก่โจทก์แล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาซื้อขายหินในสภาพสังหาริมทรัพย์ฉบับลงวันที่ 14 สิงหาคม 2535 ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางละมุง จำนวน 2 ฉบับคือเช็คเลขที่ 7992838 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2535 จำนวนเงิน 6,000,000 บาท และเช็คเลขที่ 6434267 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2536 จำนวนเงิน 24,000,000 บาท และโฉนดเลขที่ 14 ตำบลบางมูล อำเภอบางปลา เมืองนครชัยศรี แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาซื้อขายหินระหว่างจำเลยทั้งสองกับโจทก์โดยโจทก์กับพระเทพกิตติปัญญาคุณหรือกิตติวุฑโฒ ภิกขุ ร่วมกันซื้อในลักษณะสังหาริมทรัพย์จากจำเลยทั้งสอง แต่พระเทพกิตติปัญญาคุณเป็นพระภิกษุไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายได้ จึงมอบให้โจทก์ผู้เดียวทำสัญญากับจำเลยทั้งสอง โจทก์ทราบเงื่อนไขของการที่จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตระเบิดและย่อยหินเป็นอย่างดีจึงได้ทำสัญญาซื้อขายหินกับจำเลยทั้งสอง ทั้งโจทก์ได้ตรวจสอบพื้นที่และทำหนังสือขอทราบข้อเท็จจริงจากอธิบดีกรมที่ดินแล้ว ส่วนเงื่อนไขการอนุญาตระเบิดและย่อยหินที่กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการเองนั้นจะให้ผู้อื่นดำเนินการหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้เป็นเพียงข้อกำหนดหนึ่งจากทั้งหมด 26 ข้อ มิได้หมายความว่าถ้าฝ่าฝืนแล้วจะถูกเพิกถอนการอนุญาต การห้ามโอนสิทธิให้ผู้อื่นกฎหมายไม่ได้กำหนดห้ามเด็ดขาด การที่โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อ มีหรือใช้วัตถุระเบิดไม่ทำให้สัญญาซื้อขายหินไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ยังต้องผูกพันตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คทั้งสองฉบับกับโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สัญญาซื้อขายหินในสภาพสังหาริมทรัพย์ ฉบับลงวันที่14 สิงหาคม 2535 ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกเป็นโมฆะให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางละมุง ฉบับเลขที่ 7992838 ลงวันที่21 สิงหาคม 2535 จำนวนเงิน 6,000,000 บาท และฉบับเลขที่ 6434267 ลงวันที่14 สิงหาคม 2536 จำนวนเงิน 24,000,000 บาท และโฉนดเลขที่ 14 ตำบลบางมูลอำเภอบางปลา เมืองนครชัยศรี ที่รับไว้คืนให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2535โจทก์ทำสัญญาซื้อหินจากจำเลยทั้งสองในสภาพสังหาริมทรัพย์ในราคา 30,000,000บาท โดยมีข้อตกลงและรายละเอียดตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 จำเลยทั้งสองเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ระเบิดและย่อยหินในที่ดินของรัฐตามใบอนุญาตหมาย จ.2 และ จ.3

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า สัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.1 มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายเพราะการได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 สามารถโอนกันได้ เพราะตามประมวลกฎหมายที่ดินมีการขอใช้ที่ดินของรัฐสองกรณี คือกรณีที่อธิบดีกรมที่ดินอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 และกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยให้สัมปทานตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 12การได้มาซึ่งสัมปทานตามมาตรา 12 สามารถโอนกันได้ การได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินตามมาตรา 9 ก็ย่อมโอนกันได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 มาตรา 9 เองไม่ได้บัญญัติให้โอนกันได้ และไม่มีบทกฎหมายหรือกฎกระทรวงฉบับใดกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าวนั้นโอนสิทธิหรืออำนาจตลอดจนวิธีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเป็นการหาประโยชน์ในที่ดินของรัฐนั้นให้แก่บุคคลอื่นได้ เพราะหลักการในการอนุญาตตามคำขอใช้ที่ดินของรัฐในกรณีดังกล่าวนี้กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่ออนุญาตให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตโดยเฉพาะตัวเท่านั้นการที่ผู้ที่ได้รับอนุญาตโอนสิทธิดังกล่าวย่อมเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 จำเลยทั้งสองผู้โอนอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้เนื่องจากตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ระเบิดและย่อยหินข้อ 3 ระบุว่าผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการด้วยตนเอง จะให้ผู้อื่นดำเนินการหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ และหากโจทก์ผู้รับโอนเข้าไปทำประโยชน์หรือใช้ที่ดินของรัฐโดยระเบิดและย่อยหินเองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 โจทก์อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 กับโจทก์โดยให้โจทก์เป็นผู้ระเบิดและย่อยหินเองได้นั้น สัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหิน โดยโจทก์กับจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่แท้จริงที่จะโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหินแก่กัน จึงเป็นวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะกรณีของจำเลยทั้งสองแตกต่างกับการให้สัมปทานตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 12 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2542

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท(ซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน)ระหว่างโจทก์กับจำเลย มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ซึ่งตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 การที่โจทก์ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้จำเลยย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 ที่โจทก์ ไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ดังนี้หนังสือ สัญญากู้เงินฉบับพิพาทที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาที่จำเลยตกลง ยอมรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้ เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะด้วยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2532 จำเลยขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินให้โจทก์ 1 แปลง ในราคา 150,000 บาทโดยจำเลยยืนยันว่าจะดำเนินการให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินโดยชอบ แต่จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ไม่ได้ ต่อมาวันที่ 14 เมษายน 2537 จำเลยได้ทำหนังสือตกลงที่จะคืนเงินให้แก่โจทก์โดยทำหนังสือสัญญากู้เงินจำนวน 150,000 บาท ให้โจทก์ไว้ยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และจะชำระคืนโจทก์ภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 เมื่อถึงกำหนดจำเลยมิได้ชำระเงินคืนตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 350,000 บาทและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 172,872 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 150,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เช่าที่ดินพิพาทของจำเลยซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินมีกำหนดตลอดอายุของจำเลย เป็นเงิน 150,000 บาทโจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ประมาณ 5 ปี แต่ไม่ได้ผลโจทก์ขอให้จำเลยคืนค่าเช่าครึ่งหนึ่ง จำเลยไม่ยินยอมโจทก์จึงนำหนังสือสัญญากู้เงินปลอมมาฟ้องจำเลยโดยจำเลยไม่มีหนี้กับโจทก์ และหากโจทก์อ้างว่าเป็นเงินที่ซื้อที่ดินก็ถือเป็นลาภมิควรได้แต่มิได้ฟ้องร้องเอาคืนภายใน 1 ปีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 แปลงหนี้มาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทดังกล่าว หนังสือสัญญากู้เงินจึงตกเป็นโมฆะด้วย จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินกู้ให้แก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า หนังสือสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 ใช้บังคับได้หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าวว่าเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ตกเป็นโมฆะจำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวน 150,000 บาท ที่จำเลยรับจากโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งเป็นโมฆะนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง แต่จำเลยไม่มีเงินชำระคืนให้แก่โจทก์ทันทีจึงได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์ไว้ อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้ฐานลาภมิควรได้มาเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แล้ว การที่โจทก์ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้จำเลยตามสัญญาดังกล่าวย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 4 ว่าด้วยลาภมิควรได้ ซึ่งตามมาตรา 411 บัญญัติว่า "บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่" โจทก์ไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ดังนี้ หนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาที่จำเลยตกลงยอมรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่โจทก์

พิพากษายืน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 411 บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่

อย่างไรก็ดี หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้จะซื้อไม่ทราบมาก่อนทำสัญญจะซื้อจะขายว่าที่ดินอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน กรณีเช่นนี้จะถือว่าคู่สัญญาตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายโดยมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายมิได้ ดังนี้ การที่ผู้จะซื้อชำระค่าที่ดินให้แก่ผู้จะขาย จึงมิใช่เป็นกระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม มาตรา 407 คือ มาตรา 407 บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่ " ผู้จะขายต้องคืนเงินซึ่งได้รับไว้แก่ผู้จะซื้อตาม มาตรา 406 คือ มาตรา 406 บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดีหรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่งการรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย

บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มาเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้นหรือเป็นเหตุที่ได้ สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย"
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2546

ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและอยู่ในระหว่างจำเลยยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์จึงต้องห้ามมิให้บุคคลที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทที่เป็นโมฆะ ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยเพราะมิใช่เป็นผลจากการผิดสัญญา แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 412 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้น เป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรื่องลาภมิควรได้ จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องนอกประเด็น

โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงไม่ใช่โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามมาตรา 407 จำเลยต้องคืนเงินซึ่งได้รับไว้แก่โจทก์ตามมาตรา 406

หลังจากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าที่ดิน 2,872,718 บาท คืนแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถชำระได้ให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้ ย. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ 2,000,000 บาท ต่อมา ย. ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์2,600,000 บาท อันเป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับที่โจทก์ได้หักหนี้ 2,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 ยอมให้โจทก์หักหนี้ดังกล่าวได้ ดังนี้เงิน 2,000,000 บาท จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 872,718 บาท เท่านั้น

จำเลยไม่ได้ยกอายุความเรื่องลาภมิควรได้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2537 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่า ตั้งอยู่ที่ตำบลสาย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 38 ไร่ 76 ตารางวา ได้เสนอขายที่ดิน โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในราคา 4,363,589 บาท โจทก์วางมัดจำเป็นเงิน 2,872,718บาท ในวันทำสัญญาวันที่ 25 ตุลาคม 2537 โดยตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินวันที่ 31 สิงหาคม 2538 หากผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินที่ได้รับไว้แล้วพร้อมเบี้ยปรับจำนวนหนึ่งเท่าของเงินดังกล่าวและเบี้ยปรับอีกเดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองผิดสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 6,283,341บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 5,925,436 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท โจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิ แต่โจทก์รับว่าสามารถดำเนินการออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทได้จำเลยทั้งสองได้รับเงินมัดจำตามสัญญาไว้เพียง 872,718 บาทและได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 872,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 มิถุนายน 2539) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและนายยศ บำรุงธรรม ร่วมกันถือครองที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินโครงการที่จำแนกป่าห้วยสัก - ป่าแม่กก (หมายเลข 43)เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2537 จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ที่ดินพิพาทเพื่อประกอบเกษตรกรรม ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2537 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในราคา 4,363,589 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 และนายยศ บำรุงธรรม ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญา ในวันดังกล่าวโจทก์ชำระราคาค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน2,872,718 บาท เป็นเช็คธนาคารเอเซีย จำกัด (มหาชน) สาขาเชียงราย ลงวันที่ 25ตุลาคม 2537 จำนวนเงิน 872,718 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เงินอีก 2,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ยอมให้โจทก์หักหนี้ที่นายยศเป็นหนี้โจทก์โดยถือว่าเป็นราคาที่ดินบางส่วน ส่วนที่เหลืออีก 1,490,871 บาท โจทก์จะชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินวันที่ 31 สิงหาคม 2538 หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญายอมคืนเงิน 2,872,718 บาท พร้อมเบี้ยปรับจำนวนหนึ่งเท่าของเงินดังกล่าวและชำระเบี้ยปรับเดือนละ 30,000 บาท ให้แก่โจทก์ ครั้นถึงกำหนดจำเลยทั้งสองไม่อาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทเอกสารหมาย จ.2 นั้น โจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน และไม่สามารถโอนกันได้หรือไม่ปัญหานี้โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า ก่อนทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำเลยที่ 2 มาเสนอขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่กรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 สามารถออกเอกสารสิทธิได้และจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน เห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้คดีโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน คงให้การเพียงว่า ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ทราบว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าและไม่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น จึงเป็นฎีกานอกคำให้การ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน เมื่อที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและอยู่ในระหว่างจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ที่ดินพิพาท จึงต้องห้ามมิให้บุคคลที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.2 เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โดยไม่คำนึงว่าเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดเพราะจำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา

ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองมีว่าจำเลยทั้งสองจะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.2เป็นโมฆะดังที่วินิจฉัยมาแล้ว ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆ ขึ้น คู่สัญญาปราศจากข้อผูกพันในอันที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาเสมือนหนึ่งไม่มีข้อสัญญาด้วยกันนั่นเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสอง เพราะมิใช่เป็นผลจากการผิดสัญญาแต่อย่างใด แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับซึ่งตามมาตรา 412 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรื่องลาภมิควรได้ จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องนอกประเด็นดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา เมื่อโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 โดยไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงไม่ใช่โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามมาตรา 407 แต่เป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยทั้งสองต้องคืนเงินซึ่งได้รับไว้แก่โจทก์ตามมาตรา 406 แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่าในวันทำสัญญาจำเลยที่ 1ได้รับชำระราคาค่าที่ดินจากโจทก์ไว้แล้วเป็นเงิน 2,872,718 บาท ก็ตาม แต่โจทก์ก็เบิกความว่า ความจริงโจทก์ชำระราคาค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยเช็คธนาคารเอเซีย จำกัด (มหาชน) สาขาเชียงราย ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2537 จำนวนเงิน 872,718 บาท ส่วนเงินอีก 2,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ยอมให้โจทก์หักหนี้ที่นายยศเป็นหนี้โจทก์ โดยถือว่าเป็นราคาค่าที่ดินบางส่วน และเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่าหลังจากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2ชำระหนี้ หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถชำระหนี้ได้ให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้นายยศชำระหนี้แก่โจทก์ 2,000,000 บาท ต่อมานายยศได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 2,600,000 บาท อันเป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับที่โจทก์ได้หักหนี้ 2,000,000 บาท ตามที่โจทก์เบิกความข้างต้น ซึ่งก็คือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ค.1 นั้นเอง ดังนี้ เงิน 2,000,000 บาท ดังกล่าวเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 872,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเท่านั้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะโจทก์รู้ถึงสิทธิในการฟ้องเรียกลาภมิควรได้ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2537 อันเป็นวันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 21 มิถุนายน 2539 เห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกอายุความเรื่องลาภมิควรได้ขึ้นต่อสู้จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา 172 โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้
ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ

มาตรา 380 ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้วก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป

ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้

มาตรา 406 บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดีหรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่งการรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย

บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มาเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้นหรือเป็นเหตุที่ได้ สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย

มาตรา 407 บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่

ข้อสังเกต** ตามฎีกานี้วินิจฉัยอีกว่า เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะ ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆ ขึ้น โจทก์ผู้จะซื้อจึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยผู้จุขายเพราะมิใช่เป็นผลมาจากการผิดสัญญา แต่ ประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ ซึ่งตาม มาตรา 412 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น การที่ศาลล่้างทั้งสองพิพากษาเรื่องลาภมิควรได้ จึงมิใช่การพิพากษานอกคำฟ้องนอกประเด็น

หลังจากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ได้แจ้งจำเลยที่ 2 ชำระค่าที่ดิน 2,872,718 บาท คืนโจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถชำระได้ ให้จำเลยที่ 1 แจ้งให้ ย. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ 2,000,000 บาท ต่อมา ย. ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 2,60,00 บาท อันเป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับที่โจทก์ได้หักหนี้ 2,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 ยอมให้โจทก์หักหนี้ดังกล่าวได้ ดังนี้เงิน 2,00,000 บาท จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ตามมาตรา 350 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงินมัดจำตามสัญญาเพียง 872,718 บาท เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 614/2548

โจทก์ได้รับอนุญาตจากกรมทรัพยากรธรณีให้เจาะและใช้น้ำบาดาลทำสัญญากับจำเลยว่า โจทก์จะใช้น้ำบาดาลที่ได้รับอนุญาตให้เจาะและใช้แล้วนำมาผลิตน้ำประปาจำหน่ายให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าน้ำให้โจทก์ตามอัตราเดียวกันกับค่าน้ำของการประปาภูมิภาค อันมีลักษณะเช่นเดียวกันกับกิจการประปา ถือได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการประกอบกิจการค้าขายเกี่ยวกับประปาอันเป็นสาธารณูปโภคซึ่งโจทก์จะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรี เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานให้ดำเนินการน้ำอุปโภคบริโภคที่โจทก์ให้บริการจำหน่ายแก่จำเลย จึงเป็นกิจการประปาอันเป็นสาธารณูปโภคที่ต้องห้ามชัดแจ้งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 12 เรื่องควบคุมกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภคซึ่งมีโทษอาญา ข้อตกลงเรื่องการซื้อขายน้ำอุปโภคและบริโภคดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจนทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระราคาค่าน้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3926/2531

จำเลยขายที่พิพาทให้โจทก์ โดยให้โจทก์ไถ่ถอนการขายฝากจาก ส.เป็นการชำระเงินค่าที่พิพาทส่วนหนึ่ง โจทก์นำที่พิพาทไปจำนองกับธนาคารเพื่อประกันหนี้เงินที่โจทก์กู้มาไถ่ถอนการขายฝาก ต่อมาจำเลยฟ้องโจทก์และศาลฎีกาพิพากษาว่า สัญญาซื้อขายเกิดขึ้นด้วยการแสดงเจตนาลวง ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 ปรากฏว่าโจทก์ได้ผ่อนชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารไปตามสัญญาจำนองก่อนแล้วจำนวน 106,373.20 บาทจำเลยคงชำระเงินส่วนที่เหลือแก่ธนาคารเป็นการไถ่ถอนการจำนองอีกเพียง 26,601.44 บาทจึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาในสภาพที่ปลอดจำนองด้วยเงินที่โจทก์ชำระไปส่วนหนึ่ง ซึ่งจำเลยไม่มีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และทำให้โจทก์เสียเปรียบ ทั้งโจทก์มิได้ชำระหนี้ไปตามอำเภอใจ จำเลยจึงต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 โจทก์ทราบคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถือว่าเป็นวันที่รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนอายุความจึงเริ่มนับแต่เวลาดังกล่าว มิใช่นับแต่วันทำสัญญาซื้อขายเมื่อฟ้องคดีนี้ไม่พ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันเวลาที่ทราบคำพิพากษาศาลฎีกา จึงไม่ขาดอายุความ

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งติดจำนองให้แก่โจทก์โดยโจทก์ต้องชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนองและชำระเงินที่เหลือเป็นเงินสด หลังจากโอนที่ดินแล้ว โจทก์ได้จำนองที่ดินต่อธนาคาร ต่อมาจำเลยฟ้องโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นโมฆะศาลฎีกาพิพากษาว่าการซื้อขายเป็นโมฆะ จึงขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่โจทก์ไถ่ถอนการขายฝาก จำนวน120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำเลยให้การว่าโจทก์กระทำการตามอำเภอใจของโจทก์เอง ไม่มีสิทธิเรียกเงินคืน และคดีขาดอายุความลาภมิควรได้เกิน 1 ปีแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 106,373.20 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 4875 ตำบลบางขุนศรีอำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร แต่เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ครั้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2517 จำเลยนำที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับนายสมศักดิ์หัทยานานนท์ กำหนดไถ่ถอนคืนใน 3 ปี ก่อนครบกำหนด จำเลยได้ทำนิติกรรมขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ในราคา 400,000บาท และให้โจทก์ไถ่ถอนการขายฝากจากนายสมศักดิ์ หัทยานานนท์แล้วโจทก์นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจดทะเบียนจำนองกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาบางลำภูเพื่อเป็นประกันหนี้ที่โจทก์กู้เงินมา จำนวน 100,000 บาท อันเป็นเงินส่วนหนึ่งที่ใช้ในการไถ่ถอนการขายฝากดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยจึงฟ้องโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14459/2522 ของศาลชั้นต้นให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลย ศาลฎีกาพิพากษาว่าโจทก์จำเลยมิได้ตกลงซื้อขายกันจริงจัง สัญญาซื้อขายเกิดขึ้นด้วยการแสดงเจตนาลวงระหว่างคู่กรณีจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 ซึ่งก่อนนั้นโจทก์ได้ผ่อนชำระต้นเงิน จำนวน 80,799.01 บาท และดอกเบี้ยจำนวน25,574.19 บาท รวมเป็นเงิน 106,373.20 บาท แก่ธนาคารตามสัญญาจำนองนั้นไปแล้ว เห็นว่าเมื่อคดีหมายเลขแดงที่ 14459/2522ของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้วปรากฏว่าโจทก์ได้ทำการผ่อนชำระเงินให้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาบางลำภู ไปแล้วจำนวน106,373.20 บาท จำเลยคงชำระเงินส่วนที่เหลือแก่ธนาคารเป็นการไถ่ถอนจำนองอีกเพียง 26,601.44 บาททำให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปโดยปลอดจำนองโดยเป็นผลมาจากการที่โจทก์ได้ผ่อนชำระหนี้จำนองจำนวนดังกล่าวแล้วด้วยจึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาในสภาพที่ปลอดจำนองด้วยเงินที่โจทก์ชำระไปส่วนหนึ่ง ซึ่งจำเลยไม่มีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และทำให้โจทก์เสียเปรียบ ทั้งโจทก์ก็มิได้ชำระหนี้ไปตามอำเภอใจ จำเลยจึงต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 สำหรับประเด็นเรื่องอายุความ นั้น ปรากฏว่าโจทก์ทราบคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2525 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืน อายุความจึงเริ่มนับแต่เวลาดังกล่าว มิใช่นับแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2520 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาซื้อขายที่ดินตามที่จำเลยฎีกา โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2526 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืน จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ชอบแล้ว"

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4078/2546

เมื่อสัญญาขายฝากที่ดิน น.ส.3 ตกเป็นโมฆะ การคืนทรัพย์สินอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะนั้นต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับกล่าวคือ ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่งก็ต้องคืนเต็มจำนวนนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ทั้งสองและโจทก์ทั้งสองมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ เพราะเป็นหนี้เงิน แต่ไม่ปรากฏชัดเจนว่าได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินที่รับไว้และจำเลยที่ 1 ทราบแล้วตั้งแต่เมื่อใด โจทก์ทั้งสองคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป โดยถือว่าเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,000,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2537 ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 234,162 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,234,162 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน769,230 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่28 ธันวาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่28 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 2 ได้ขายฝากที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 561 แก่โจทก์ทั้งสองตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.4 และวันที่ 29 มีนาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้ขายฝากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 188 แก่โจทก์ทั้งสองตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าสัญญาขายฝากที่ดินตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ตกเป็นโมฆะเพราะโจทก์ทั้งสองได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินจำนวน 769,230 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าเมื่อสัญญาขายฝากที่ดินตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.5ตกเป็นโมฆะแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินที่รับมัดจำไว้จำนวน 400,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น โดยไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยจากการขายฝากที่เป็นโมฆะแต่อย่างใดเห็นว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จึงไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนข้ออ้างที่ว่าจำเลยที่ 1 รับเงินเฉพาะมัดจำจากโจทก์ทั้งสองไว้ 400,000 บาท โดยเงินค่าขายฝากที่ดินยังไม่ได้รับจึงรับฟังไม่ได้ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง แต่ฟังได้ว่าในวันที่ 28 ธันวาคม 2537 นั้นโจทก์ทั้งสองได้มอบเงินจำนวน 2,000,000 บาท เป็นค่ารับซื้อฝากที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว หนังสือสัญญาขายฝากที่ดินทั้งสองฉบับตามสำเนาเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 จึงได้เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีแม้ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินทั้งสองฉบับดังกล่าวเมื่อรวมราคาขายฝากแล้วเป็นเงิน 2,000,000บาท ก็ตาม แต่ได้ความจากโจทก์ที่ 1 เองว่า รวมเอาค่าดอกเบี้ยจำนวน 600,000 บาทเข้าไปด้วย ดังนั้น ราคาขายฝากที่แท้จริงของที่ดินทั้งสองแปลงที่จำเลยทั้งสองรับไปจากโจทก์จึงเป็นเงินเพียง 2,000,000 บาท เมื่อคิดเฉลี่ยตามส่วนแล้ว คงเป็นราคาขายฝากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 188 ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปจากโจทก์ทั้งสองเพียง 769,230.77 บาท เมื่อสัญญาขายฝากที่ดินตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ตกเป็นโมฆะการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะนั้น ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับกล่าวคือ ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่งก็ต้องคืนเต็มจำนวนนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินจำนวน 769,230.77 บาท ที่ได้รับให้แก่โจทก์ทั้งสองที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน769,230 บาท ยังไม่ถูกต้อง แต่โจทก์ทั้งสองมิได้ฎีกาปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่พิพากษาแก้ไขให้ และเมื่อฟังได้ว่าสัญญาขายฝากที่ดินตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ตกเป็นโมฆะแล้ว เห็นสมควรเพิกถอนรายการจดทะเบียนนิติกรรมดังกล่าวเสียด้วย สำหรับเรื่องดอกเบี้ยนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินจำนวน 769,230บาท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ เพราะเป็นหนี้เงิน แต่ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองบรรยายไว้เพียงว่า โจทก์ทั้งสองได้ทวงถามขอรับเงินคืนจากจำเลยทั้งสองแล้ว โดยไม่ปรากฏชัดเจนว่าทวงถามขอคืนตั้งแต่เมื่อใด โจทก์ที่ 1 ก็เบิกความในเรื่องนี้เพียงว่าโจทก์ทั้งสองได้พยายามติดตามจำเลยทั้งสองให้คืนเงินแต่ไม่พบจำเลยทั้งสอง โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงให้เชื่อได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้ทวงถามจำเลยที่ 1 ให้คืนเงินที่รับไว้และจำเลยที่ 1 ทราบแล้วตั้งแต่เมื่อใด จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า ก่อนฟ้องโจทก์ทั้งสองได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว อันจะถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขายฝากตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่เรียกคืนเงินนั้น และตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองผู้รับซื้อฝากนับแต่เวลานั้นแล้ว ดังนั้น โจทก์ทั้งสองคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป โดยถือว่าเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2537 นั้น เป็นการให้ชำระมากไปกว่าที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามกฎหมาย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินจำนวน 769,230 บาท แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จ กับให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนนิติกรรมขายฝากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 188 ตำบลเขาทราย (ท้ายทุ่ง) อำเภอทับคล้อ (ตะพานหิน) จังหวัดพิจิตร ฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2538 ระหว่าง จำเลยที่ 1 ผู้ขายฝาก กับโจทก์ทั้งสองผู้รับซื้อฝาก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ