สัญญาเลิกกัน คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม

ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าว่าจ้างงวดงาน ศาลฎีกาวินิจฉัย เรื่องสัญญาเลิกกันแล้วให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม ส่วนการงานที่ได้ทำให้แก่กันนั้นก็ให้ใช้ตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ และค่าของงานดังกล่าวเป็นการทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ค่าของงานต้องคิดให้ตามความเป็นจริงจะยึดเอาค่าจ้างตามสัญญาไม่ได้ นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาว่าคู่สัญญาฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อนมีการบอกเลิกสัญญาและมีการกำหนดค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับกันไว้อย่างไรด้วย และเบี้ยปรับนั้นหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ คดีนี้มีการตกลงกันว่า หากโจทก์ส่งมอบงานล่าช้าให้จำเลยมีสิทธิเรียกค่าปรับจากโจทก์ได้ เมื่อค่าปรับในสัญญาไม่ปรากฏว่ามีการคิดคำนวณโดยมีหลักเกณฑ์ใด และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายเป็นจำนวนที่แท้จริงเท่าใด แต่ได้ความว่าหลังจากจำเลยบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้ว จำเลยได้ว่าจ้างผู้รับเหมารายอื่นให้ทำงานส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จได้เป็นราคาที่น้อยลงเมื่อเทียบกับราคาที่ว่าจ้างโจทก์ อันแสดงว่าโจทก์คิดราคาค่าก่อสร้างที่ค่อนข้างสูง แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ที่จะมีสิทธิคิดค่าปรับจากโจทก์ได้ตามสัญญา ค่าปรับดังกล่าวก็ยังถือว่าสูงเกินสมควร เห็นควรกำหนดให้จำเลยมีสิทธิได้รับค่าปรับเสียใหม่ให้เหมาะสม

มาตรา 383 ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้วสิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป
มาตรา 391 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็น อยู่เดิมแต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
(วรรค 2 ) ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
(วรรค 3)ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้นการที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการ นั้นๆหรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทนก็ให้ใช้ตามนั้น
(วรรค 4) การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7618/2552

เมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม การกำหนดค่าของงานที่จะต้องชดใช้แก่กัน จึงมิใช่เป็นค่าตอบแทนหรือค่าเสียหาย แต่เป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ส่วนค่าของงานที่จะชดใช้แก่กันนั้น ก็ต้องพิจารณาจากมูลค่าของงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยตามความเป็นจริง จะยึดเอาค่าจ้างที่จะต้องชำระตามงวดงานที่กำหนดไว้ในสัญญาที่เลิกกันแล้วมาเป็นหลักเกณฑ์อีกไม่ได้ เพราะค่าจ้างที่กำหนดให้ชำระตามสัญญานั้นอาจมีการกำหนดสิ่งที่มิใช่ค่าของงานลงไปด้วย

ที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า จะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

ความรับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียม ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้ฝ่ายใดเป็นผู้เสียก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี
________________________________

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 10,832,909.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,921,714.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 พฤษภาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 60,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิจะได้รับค่าของงานที่โจทก์ได้กระทำให้แก่จำเลยไปแล้วหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 บัญญัติว่า “คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม...ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้... การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ...” ดังนั้น เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว กฎหมายบังคับให้คู่สัญญาต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม การกำหนดค่าของงานที่จะต้องชดใช้แก่กัน จึงมิใช่เป็นค่าตอบแทนหรือค่าเสียหาย แต่เป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ส่วนค่าของงานที่จะชดใช้แก่กันนั้น ก็ต้องพิจารณาจากมูลค่างานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยตามความจริง จะยึดเอาค่าจ้างที่จะต้องชำระตามงวดงานที่กำหนดไว้ในสัญญาที่เลิกกันแล้วมาเป็นหลักเกณฑ์อีกไม่ได้ เพราะค่าจ้างที่กำหนดให้ชำระแก่กันตามสัญญานั้น อาจจะมีการกำหนดสิ่งที่มิใช่ค่าของงานลงไปด้วย ดังจะเห็นได้ว่า ในการขอให้จำเลยชดใช้ค่าของงานงวดที่ 5 นั้น โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องว่า โจทก์ลงทุนก่อสร้างงานงวดที่ 5 เป็นเงิน 1,510,000 บาท เท่านั้น การที่ศาลล่างกำหนดว่า งานในงวดที่ 5 มีมูลค่า 2,576,000 บาท อันเป็นค่างวดที่จะต้องชำระตามสัญญามาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ จึงเป็นการกำหนดค่าของงานมากกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องย่อมไม่ชอบ และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยโต้แย้งค่าของงานในงวดที่ 5 คงนำสืบต่อสู้เพียงประการเดียวว่าโจทก์ทำงานงวดที่ 5 ไม่เสร็จเพียงรายการเดียว คือ ยังไม่ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า คิดเป็นค่าของงานเป็นเงิน 273,295 บาท ดังนั้น ค่าของงานในงวดที่ 5 จึงมีมูลค่าเป็นเงินเท่าที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องหักออกด้วยค่าติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า คิดเป็นเงิน 1,236,705 บาท

สำหรับงานที่โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ต่อไปคือ ค่าของงานในงวดที่ 6 และที่ 7 โจทก์นำสืบว่า โจทก์ลงทุนติดตั้งเพดานอลูมิเนียม 286,670 บาท ค่าจ้างทาสีเพดาน ทำรั้ว ท่อน้ำทิ้ง เป็นเงิน 100,000 บาท และค่ามัดจำค่าทาสี 150,000 บาท โดยชำระค่าสีไปแล้ว จำเลยไม่ได้โต้แย้ง จึงกำหนดให้ตามที่โจทก์นำสืบ ส่วนค่าทำเฟอร์นิเจอร์ แม้โจทก์จะนำสืบว่าได้ชำระค่ามัดจำไปแล้ว แต่ผู้รับทำเฟอร์นิเจอร์มาเบิกความเป็นพยานว่า ยังไม่ได้ติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ให้ จึงกำหนดค่าของงานในส่วนที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ให้ไม่ได้ คงกำหนดให้เฉพาะที่โจทก์ลงทุนไปแล้วเท่านั้น สำหรับงานในงวดที่ 7 ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำสืบว่าได้ทำงานใดไปแล้วบ้าง จึงไม่กำหนดให้ ค่าของงานในงวดที่ 6 จึงคิดเป็นเงิน 536,670 บาท รวมค่าของงานที่โจทก์ทำไปทั้งสิ้น 1,773,375 บาท อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยส่งมอบงานล่าช้าเป็นเวลา 53 วัน ก่อนจำเลยบอกเลิกสัญญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่ บัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ และในสัญญาจ้าง ข้อ 20 กำหนดให้จำเลยสามารถเรียกค่าปรับในกรณีที่โจทก์ส่งมอบงานล่าช้าในอัตราวันละ 31,880 บาท แม้จำเลยจะบอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้วก็ตาม ดังนั้น โจทก์จึงต้องเสียค่าปรับกรณีส่งมอบงานล่าช้าแก่จำเลย และต้องนำมาหักจากค่าของงานที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์

การที่โจทก์จำเลยตกลงกันว่า จะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควรก็ดีถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 คดีนี้โจทก์จำเลยตกลงกันว่า หากโจทก์ส่งมอบงานล่าช้าให้จำเลยมีสิทธิเรียกค่าปรับจากโจทก์ได้ในอัตราวันละ 31,880 บาท โดยไม่ปรากฏว่า ค่าปรับดังกล่าวมีการคิดคำนวณโดยมีหลักเกณฑ์ใด และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายเป็นจำนวนที่แท้จริงเท่าใด แต่ได้ความว่าหลังจากจำเลยบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้ว จำเลยได้ว่าจ้างผู้รับเหมารายอื่นให้ทำงานส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จได้ในราคา 4,900,000 บาท เป็นราคาที่น้อยลงเมื่อเทียบกับราคาที่ว่าจ้างโจทก์ อันแสดงว่าโจทก์คิดราคาค่าก่อสร้างที่ค่อนข้างสูง แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ที่จะมีสิทธิคิดค่าปรับจากโจทก์ได้ตามสัญญา ค่าปรับดังกล่าวก็ยังถือว่าสูงเกินสมควร เห็นควรกำหนดให้จำเลยมีสิทธิได้รับค่าปรับวันละ 20,000 บาท รวม 53 วัน คิดเป็นค่าปรับ 1,060,000 บาท ต้องนำค่าปรับหักออกจากค่าของงานของโจทก์ ส่วนที่ศาลล่างนำเงิน 900,000 บาท ตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาคิดคำนวณในการกำหนดค่าของงานโดยวินิจฉัยว่าจำเลยริบเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วนั้น เห็นว่า หนังสือค้ำประกันในวงเงินจำนวน 900,000 บาท ดังกล่าว เป็นเงินที่ระบุไว้ในหนังสือค้ำประกันที่โจทก์นำมอบให้แก่จำเลย เพื่อเป็นการปฏิบัติตามสัญญารวมถึงการประกันความชำรุดเสียหายของงานจ้างที่อาจจะเกิดขึ้นภายใน 2 ปี นับแต่วันส่งมอบงาน หากไม่มีความเสียหายหรือโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงจะคืนหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์ตามสัญญาว่าจ้าง ข้อ 3 และ ข้อ 6 ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยยังมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ธนาคารใช้เงินแก่จำเลยตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจึงถือว่าจำเลยริบเงิน 900,000 บาท มาเป็นการชำระค่าเสียหายแก่จำเลยแล้วไม่ได้ ดังนั้น เมื่อนำค่าของงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยเป็นเงิน 1,773,375 บาท หักออกด้วยเงินค่าปรับ 1,060,000 บาท และเงินค่าก่อสร้างในงวดที่ 5 เป็นเงิน 588,990.23 บาท ที่จำเลยชำระแก่โจทก์แล้ว จำเลยยังคงต้องใช้ค่าของงานแก่โจทก์เป็นเงิน 124,384.77 บาท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ศาลก็ไม่ควรจะกำหนดให้จำเลยใช่ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติว่า ความรับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียม ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้ฝ่ายใดเป็นผู้เสียก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี การที่ศาลล่างกำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจไปตามกฎหมาย แต่ในชั้นนี้เมื่อปรากฏว่าจำเลยชนะคดีตามฟ้องฎีกาเป็นส่วนใหญ่ จึงเห็นสมควรกำหนดการชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเสียใหม่

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 124,384.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์เฉพาะส่วนที่เป็นค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามศาลรวม 10,000 บาท.

( ประทีป เฉลิมภัทรกุล - มนูพงศ์ รุจิกัณหะ - สมควร วิเชียรวรรณ )
ศาลแพ่ง - นายสิทธิชัย ไชยเจริญ
ศาลอุทธรณ์ - นางสาวประภาพรรณ อุดมจรรยา
__________________________________
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7618/2552 สัญญาเลิกกันแล้วคู่สัญญาต้องกลับสู่ฐานะเดิม ให้ชดใช้เงินตามที่ได้ทำงานไปแล้ว และตามความเป็นจริง จะถือเอาค่าจ้างในสัญญามาเรียกกันหาได้ไม่ ใครเป็นฝ่ายผิดสัญญา สิทธิบอกเลิกสัญญา เบี้ยปรับ ค่าเสียหาย ตกลงไว้อย่างไร? สูงเกินไปศาลลดให้ได้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ