สิทธิเรียกร้องเงินดาวน์ | มูลละเมิด

เรียกร้องค่าเสียหายเงินดาวน์ในการเช่าซื้อตามมูลละเมิด
รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์ที่ 1 ชำระเป็นเงินดาวน์ในการเช่าซื้อดังกล่าวในฐานะทายาทของนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิด เท่ากับเป็นการเรียกเงินเท่ากับจำนวนเงินดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เพราะมิใช่การเรียกเงินดาวน์คืนจากบริษัทผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ กรณีเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เสียหายใช้การไม่ได้ อันเป็นความเสียหายโดยตรงในผลแห่งละเมิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4273/2548

โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุจากบริษัท ต. โดยชำระเงินดาวน์จำนวน 79,000 บาท และชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ๆ เงินดาวน์จึงเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อ เมื่อ ส. ทำละเมิดเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาจาก ส. ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ส. ตามมูลละเมิดและกรมธรรม์ประกันภัย แม้ว่าบริษัท ก. ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาจะได้ชำระค่าสินไหมทดแทนราคารถยนต์ให้แก่บริษัท ต. ไปแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงการชำระค่าเสียหายเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดจำนวนอยู่เท่านั้น จึงเป็นการชำระราคารถยนต์เพียงบางส่วนมิได้ชำระราคารถยนต์ทั้งหมด ราคารถยนต์ส่วนที่ไม่ได้ชำระจึงเป็นราคารถยนต์หรือค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้ทำละเมิดได้

โจทก์ที่ 1 ฟ้องโดยตั้งรูปคดีว่า โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินดาวน์ในการเช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุ ส. ได้ทำละเมิดให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์ที่ 1 ชำระเป็นเงินดาวน์ในการเช่าซื้อดังกล่าวในฐานะทายาทของ ส. ผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ส. ผู้ทำละเมิด เท่ากับเป็นการเรียกเงินเท่ากับจำนวนเงินดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เพราะมิใช่การเรียกเงินดาวน์คืนจากบริษัทผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ กรณีเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เสียหายใช้การไม่ได้ อันเป็นความเสียหายโดยตรงในผลแห่งละเมิด และเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายตามมูลละเมิดและตามสัญญาประกันภัย จึงมิใช่ค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่บริษัท ต. ได้รับไปจากบริษัท ก. ซึ่งเป็นราคารถยนต์คนละส่วนกัน

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงินจำนวน 340,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 330,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ทั้งนี้รับผิดเพียงไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โดยร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 30,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 2 ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินอีกจำนวน 79,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุจากบริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยชำระเงินดาวน์จำนวน 79,000 บาท และชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ๆ เงินดาวน์จึงเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อ เมื่อนายสวัสดิ์ทำละเมิดเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมา จากนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของนายสวัสดิ์ตามมูลละเมิดและกรมธรรม์ประกันภัย แม้ว่าบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาจะได้ชำระค่าสินไหมทดแทนราคารถยนต์ให้แก่บริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ไปแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงการชำระค่าเสียหายเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดจำนวนอยู่เท่านั้น จึงเป็นการชำระราคารถยนต์เพียงบางส่วน มิได้ชำระราคารถยนต์ทั้งหมด ราคารถยนต์ส่วนที่ไม่ได้ชำระจึงเป็นราคารถยนต์หรือค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้ทำละเมิดได้

การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องโดยตั้งรูปคดีว่า โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินดาวน์ในการเช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุ นายสวัสดิ์ได้ทำละเมิดให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์ที่ 1 ชำระเป็นเงินดาวน์ในการเช่าซื้อดังกล่าวในฐานะทายาทของนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิด เท่ากับเป็นการเรียกเงินเท่ากับจำนวนเงินดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เพราะมิใช่การเรียกเงินดาวน์คืนจากบริษัทผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ กรณีเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เสียหายใช้การไม่ได้ อันเป็นความเสียหายโดยตรงในผลแห่งละเมิด และเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายตามมูลละเมิดและตามสัญญาประกันภัย จึงมิใช่ค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับไปจากบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นราคารถยนต์คนละส่วนกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์ที่ 1.
( สิทธิชัย รุ่งตระกูล - ปัญญา ถนอมรอด - ชวลิต ตุลยสิงห์ )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 438 ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหาย อันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าเป็นโมฆะ
มาตรา 887 อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้ รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัย จะต้องรับผิดชอบ
บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควร จะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้ หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตาม สัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย
อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอา ประกันภัยแล้ว ก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว
มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ