ไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ

ความผิดฐานเบิกความเท็จต้องเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยเป็นผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกดังนั้นประเด็นในคดีมีว่าจำเลยเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลและมีเหตุที่จะแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามหรือไม่ ส่วนที่ว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง จำนวนเท่าใดนั้น ไม่ใช่ประเด็นในคดี ดังนั้น แม้จำเลยจะเบิกความหรือแสดงหลักฐานว่าบ้านเป็นของผู้ตายซึ่งเป็นความเท็จ เพราะขณะจำเลยเบิกความ ผู้ตายไม่ใช่เจ้าของบ้านหลังนี้ แต่ผู้ที่เจ้าของคือโจทก์ร่วมก็ตาม คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวก็หาใช่ข้อสำคัญในคดีไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานเบิกความเท็จมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 75/2544

คดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ผู้ตายมีประเด็นว่า จำเลยเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่น คำร้องขอต่อศาลและมีเหตุที่จะแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 หรือไม่ กับจำเลยเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1728 หรือไม่ส่วนข้อที่ว่า ม. มีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด ไม่ใช่ประเด็นในคดีดังกล่าว การที่จำเลยเบิกความเท็จว่า บ้านเป็นของ ม. จึงมิใช่ข้อสำคัญในคดี ไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ
________________________________

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2539 เวลากลางวัน จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลแพ่งธนบุรี คดีหมายเลขแดงที่ 5008/2539 โดยจำเลยเบิกความว่าจำเลยเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมานพ และนางอำไพวรรณ ซึ่งมีบุตร 3 คน บิดาและมารดาของนายมานพถึงแก่กรรมนานแล้ว เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2522 นายมานพถึงแก่กรรมด้วยโรคความดันโลหิตสูงก่อนถึงแก่กรรมผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกแต่มีทรัพย์มรดก คือ บ้านเลขที่ 511/83แขวงบางพลัด เขตบางพลัด (ที่ถูกเป็นเขตบางกอกน้อย) กรุงเทพมหานครคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นความเท็จที่เป็นข้อสำคัญในคดี เพราะขณะจำเลยเบิกความ นายมานพไม่ใช่เจ้าของบ้านเลขที่ 511/83 แต่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์คือ นายปริญญา ซึ่งซื้อบ้านดังกล่าวมาจากการขายทอดตลาดของกรมสรรพากรตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2531 ศาลแพ่งธนบุรีเชื่อคำเบิกความเท็จของจำเลยจึงมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายมานพ ต่อมาจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายบ้านดังกล่าวให้แก่ผู้อื่นเป็นเหตุให้นายปริญญาได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177

จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายปริญญา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 วรรคแรก จำคุก 1 ปี
จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นบุตรนายมานพ และนางอำไพวรรณ เมื่อวันที่ 18ตุลาคม 2528 สำนักงานสรรพากร กรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศว่าจะทำการขายทอดตลาดบ้านเลขที่ 511/83 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางพลัดเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทรัพย์สินของนางอำไพวรรณในฐานะหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดนพวรรณก่อสร้างผู้ค้างภาษีอากรโดยจะขายทอดตลาดเฉพาะตัวบ้านเลขที่ 511/83 เนื่องจากปลูกในที่ดินธรณีสงฆ์วัดอาวุธวิกสิตตาราม ผู้ใดซื้อได้ให้รื้อไปหรือติดต่อกับวัดในที่สุดโจทก์ร่วมประมูลซื้อได้ และได้ทำสัญญาซื้อขายกันที่สำนักงานเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2531 ตามหนังสือสัญญาขายบ้านเอกสารหมาย จ.2 ก่อนและหลังจากการขายทอดตลาดจำเลยได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 511/83 มาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 11เมษายน 2539 จำเลยทำสัญญาจะขายบ้านเลขที่ 511/83 ให้แก่นางสาวเพ็ญณี ตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาวันที่ 19กันยายน 2539 จำเลยเบิกความต่อศาลแพ่งธนบุรีในคดีหมายเลขดำที่ 4836/2539 ที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายมานพผู้ตายว่านายมานพบิดาจำเลยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2522 ก่อนถึงแก่กรรมนายมานพเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 511/83 ตามสำเนาคำให้การพยานเอกสารหมาย จ.4 ในที่สุดศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายมานพ ตามสำเนาคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ 5008/2539 ของศาลแพ่งธนบุรีเอกสารหมาย จ.5 หลังจากนั้นจำเลยนำสำเนาคำสั่งดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาบางกอกน้อยเพื่อโอนขายบ้านเลขที่ 511/83 ให้แก่นางสาวเพ็ญมณี โจทก์ร่วมทราบเรื่องจึงไปคัดค้าน ทำให้จำเลยไม่สามารถโอนขายบ้านดังกล่าวได้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานเบิกความเท็จตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่าในคดีหมายเลขดำที่ 4836/2539คดีหมายเลขแดงที่ 5008/2539 ของศาลแพ่งธนบุรี ซึ่งจำเลยเป็นผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายมานพผู้ตาย ประเด็นในคดีมีว่าจำเลยเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลและมีเหตุที่จะแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 หรือไม่ส่วนที่ว่านายมานพเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง จำนวนเท่าใดนั้น ไม่ใช่ประเด็นในคดีดังกล่าว ดังนั้น แม้จำเลยจะเบิกความหรือแสดงหลักฐานว่าบ้านเลขที่ 511/83 เป็นของนายมานพผู้ตายซึ่งเป็นความเท็จ เพราะขณะจำเลยเบิกความ นายมานพไม่ใช่เจ้าของบ้านหลังนี้ แต่ผู้ที่เจ้าของคือโจทก์ร่วมก็ตาม คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวก็หาใช่ข้อสำคัญในคดีไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานเบิกความเท็จมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

( ธีรศักดิ์ เตียวัฒนานนท์ - มงคล คุปต์กาญจนากุล - สุวัฒน์ วรรธนะหทัย )

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ